จังหวัดนราธิวาส ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้น เตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาปึก” 3 – 5 ม.ค. 62

จังหวัดนราธิวาส ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้น เตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาปึก” 3 – 5 ม.ค. 62 เน้นลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด

วันนี้ (2 ม.ค. 62) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังการประชุมทางไกล ที่ห้องประชุมพระยานราศัยสุนทร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เพื่อประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุกรณีพายุโซนร้อน “ปาปึก” (PABUK) โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธาน ถ่ายทอดสดทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้น ไปยัง จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบนโยบายให้มีการเตรียมพร้อมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ เพื่อให้การเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที โดยการเตรียมรับมือพายุโซนร้อน “ปาปึก” ที่จะเคลื่อนผ่านพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 ซึ่งจากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) แล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศใต้ค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2 – 3 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ ในช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2- 4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ในช่วง 3 – 5 มกราคม 2562

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมเตรียมความพร้อม บกปภ.ช. ได้บูรณาการทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในเรื่องต่างๆ อาทิ การคาดการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ การวิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมการรับมือ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการในเรื่องอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการเตรียมรับสถานการณ์ โดยให้หน่วยงานในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่น ประเมินลดผลกระทบ เตรียมการช่วยเหลือประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด