เกษตรสุพรรณบุรี ขับเคลื่อนการเรียนรู้การผลิตพืชทดแทนส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

เกษตรเดิมบางนางบวช  จ.สุพรรณบุรี ขับเคลื่อนการเรียนรู้การผลิตพืชทดแทนโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2562

 นางสาววราพร หลวงปลอด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รับผิดชอบพื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม และตำบลบ่อกรุ ร่วมกับผู้นำท้องที่ และอาสาสมัครเกษตร  ดำเนินการจัดการเรียนรู้การผลิตพืชทดแทน  โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2562 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการพื้นที่หมู่ที่ 1,2,3, 6, และหมู่ที่ 7 ตำบลบ่อกรุ รวมจำนวน 93 ราย  ณ ศาลาวัดบ่อกรุ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อกรุ  อำเภอเดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี

  ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปรังในรอบ 4 ปี (พ.ย.2557 – เม.ย.2561 ปีใดปีหนึ่ง) หรือ เป็นเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 หรือ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 พื้นที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป และไม่เกิน 15 ไร่  2.) พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่ใช่พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการอื่น เช่น โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา 3.) สนับสนุนค่าใช้จ่าย 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท สำหรับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพื้นที่หลากหลาย ยกเว้น หญ้าเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เผือก พืชปุ๋ยสด ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วัน 4.) เกษตรกรต้องปลูกพืชตรงตามที่แจ้งสมัครเข้าร่วมโครงการ และปลูกในช่วง ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2561 – 28 ก.พ. 2562 5.) เกษตรกรเมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ห้ามนำพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการกลับไปทำนาปรังในฤดูปีการผลิต 2562 (1 พ.ย. 2561- 28 เม.ย. 2562) หากเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ

     สำหรับ เทคนิคการเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีนั้น ควรเก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึง และระบายน้ำออกจากแปลงนาแล้ว 10 วัน เพื่อให้ข้าวสุกทั้งแปลง ซึ่งสามารถสังเกตด้วยตนเองง่ายๆ คือ การนับช่วงหลังจากที่ข้าวออกรวงแล้ว 20 – 30 วัน โดยปลายรวงข้าวจะมีสีเหลือง แต่กลางๆรวงเป็นสีตองอ่อน หรือเป็นสีลูกหวาย ถ้าเก็บเมล็ดข้าวที่เป็นสีตองอ่อนมากัดดู ถ้าหากกัดสองท่อนได้ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าหากกัดแล้วยังนิ่มอยู่ต้องรอจนกว่าเมล็ดข้าวจะแข็ง พอกัดท่อนได้จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ การเก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึงข้อดีตรงที่จะได้เมล็ดข้าวที่แข็งแกร่ง มีน้ำหนัก และมีคุณภาพในการสีดี ซึ่งการเก็บเกี่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ข้าวมีราคาที่ดีขึ้น