ตรัง โรคไข้เลือดออกระบาดมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย




สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง  ประชุมด่วนเร่งหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดอก หลังจากพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 2 ราย  ทั้งนี้พบผู้ป่วยในจังหวัดตรัง 345 รายอัตราป่วย 53.64 ต่อแสนประชากร

นายแพทย์บรรเจิด  สุขพิพัฒปานนท์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง  กล่าวว่า จังหวัดตรังมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง7 สิงหาคม 2563 โดยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน345 รายอัตราป่วย 53.64 ต่อแสนประชากร และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตอาศัยอยู่ที่อำเภอนาโยง 1 ราย และอำเภอสิเกา 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตในอำเภอสิเกา เป็นผู้ป่วยติดเตียง ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง โดยถูกยุงที่บ้านมีเชื้อไข้เลือดออกกัด จึงทำให้เสียเสียชีวิต  อัตราป่วยโรคไข้เลือดออกจำแนกกลุ่มอายุ ปี 2563 ในพื้นที่จังหวัดตรังพบว่ากลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี  อัตราป่วย 126.63 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราป่วย 120.52 ต่อแสนประชากร และอัตราป่วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 66.12 ต่อแสนประชากร  และพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดได้แก่อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง อำเภอย่านตาขาว  ส่วนที่อำเภอนาโยงและอำเภอสิเกา ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิต มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่มากแต่มีผู้เสียชีวิต  ซึ่งจังหวัดตรังอยู่ในอันดับ 28 ของประเทศและอันดับที่ 2 ของเขต 12 ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง  จังหวัดตรังได้มีการรณรงค์เฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในการรณรงค์และการรวมกลุ่มกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย  เนื่องจากประกาศกรมควบคุมโรคห้ามไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมต่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่ทางเจ้าหน้าที่ อสม.ก็ยังออกรรรงค์เดินประชาสัมพันธ์ตามบ้านเรือนของประชาชนให้ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง  ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับอำเภอและหัวหน้าฝ่าย  เพื่อหาแนวทางและเร่งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น การที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้วนั้น จะส่งผลให้การออกรณรงค์หรือการรวมกลุ่มกันทำลายแห่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุ่งลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น