ตรัง กทปส.จับมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่องทดสอบประสิทธิภาพนวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

กทปส.จับมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่องทดสอบประสิทธิภาพนวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ที่แรก โรงพยาบาลตรังและยังนำเทคโนโลยีที่ใช้กับการตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย โควิด-19 โดยแพทย์สามารถพูดคุยและให้ผู้ป่วยต้องสงสัยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการตรวจวัดความดัน การเต้นของหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยของแพทย์ได้โดยไม่ต้องเข้าไปตรวจ

ที่โรงพยาบาลตรัง นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า กทปส. เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ที่เอื้อต่อการรักษาและการดูแลผู้ป่วยได้โดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดและผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางมายังโรงพยาบาล สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยใช้เทคโนโลยีผ่านระบบสื่อสารได้เพื่อลดภาระงานของนักกายภาพบำบัดอีก ทั้งยังสามารถติดตามช่วยเหลือผู้ทำกายภาพ และผู้สูงอายุโดยที่ผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพบำบัดที่ถูกด้วยตนเองหรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพใกล้บ้าน

ด้าน รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์โดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ดำเนินการวิจัยโครงการต่อเนื่อง เรื่องการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดทางเครือข่ายสื่อสารสำหรับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งได้รับทุนวิจัยที่สนับสนุนจาก กทปส. เพื่อนำไปพัฒนาระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดทางเครือข่ายสื่อสารสำหรับประโยชน์สาธารณะ เพื่อสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนการสอนที่ได้รับการรองรับจากสภาวิศวกรในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และทีมสหวิทยาการที่จะบูรณาการประยุกต์ใช้งานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โรงพยาบาลชุมชน หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและ ผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง  โดยทางคณะวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาระบบและอุปกรณ์กายภาพบำบัดทั้งหมด 4 ชนิดประกอบด้วย 1.นวัตกรรมบริหารหัวไหล่ ระบบประมวลผลภาพสำหรับการวัดองศาของการเคลื่อนไหวหัวข้อไหล่ เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติดหัวไหล่ 2. นวัตกรรมฝึกการขยายปอด ระบบประมวลผลภาพสำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูปริมาตรปอด 3. นวัตกรรมบริหารกล้ามเนื้อหายใจ ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหายใจ และ 4. นวัตกรรมบริหารข้อเข่า ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า โดยระบบและอุปกรณ์ทั้งหมดจะทำการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ Server และ Cloud Server ผ่านเครือข่ายสื่อสารซึ่งเป็นการออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ต้นแบบทั้ง 4 ชนิด ให้ได้มาตรฐานสากลตามมาตรฐาน ISO 13485 และ IEC 60601 เป็นประโยชน์ในระดับประเทศต่อไป  และยังนำเทคโนโลยีที่ใช้กับการตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย โควิด-19 โดยแพทย์สามารถพูดคุยและให้ผู้ป่วยต้องสงสัยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการตรวจวัดความดัน การเต้นของหัวใจ การสอบถามอาการ เพื่อการวินิจฉัยของแพทย์ได้โดยไม่ต้องเข้าไปตรวจภายในห้องกักตัวอีกด้วย