“สธ.กาญจน์”แนะประชาชนผ่าน NBT,  RSV  ป้องกันได้ไม่ต้องตระหนก

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี แนะประชาชนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนกเกี่ยวกับโรค RSV วิธีการป้องกันดูแลสุขภาพเช่นเดียวกับการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ด้วยการล้างมือบ่อยๆ หรือใช้ alcohol ฆ่าเชื้อ ไม่ควรนำมือมาสัมผัสกับใบหน้า หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2563  ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี  (NBT KANCHANABURI) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์สุรวิทย์  ศักดานุภาพ  รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี   ร่วมรายการ  NBT Central  ร่วมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน  ในประเด็นการดูแลสุขภาพ  เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอาร์เอสวี (RSV) มีชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่   รู้จักกันมานานมากแล้ว   พบครั้งแรกประมาณ ปี ค.ศ 1955 ประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว RSV   เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบริเวณหลอดลมทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จะแสดงอาการรุนแรงในทารกหรือเด็กเล็ก     เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง และเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วๆ ไป ทําให้เด็กมีอาการหอบเหนื่อยหรือมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 2 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

         นายแพทย์สุรวิทย์  กล่าวว่า  การติดเชื้อในครั้งแรกอาการจะรุนแรงกว่าในการติดหรือเกิดโรคในครั้งต่อไป จะเห็นว่าในเด็กเล็กอาการจึงรุนแรงกว่าในเด็กโต เพราะในเด็กโตการติดเชื้อมักจะเป็นการติดเชื้อซ้ำ  เนื่องจากไวรัส RSV มี 2 สายพันธุ์คือ A และ B ทั้งสายพันธุ์ A และ B มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ย่อย ประกอบไปด้วย RSV A และ RSV B ในแต่ละปีจะมีการสลับไปมาของการติดเชื้อเช่นในปีนี้พบเป็น RSV A มากแต่ในปีที่ผ่านมา กับพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็น RSV B เนื่องจากสายพันธุ์ย่อยมีอีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดมีความหลากหลายทางพันธุกรรม และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การติดเชื้อเป็นแล้วสามารถเป็นได้อีกเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ทำให้โรคนี้สามารถพบได้บ่อย  ระยะฟักตัวของโรค RSV ประมาณ 3 ถึง 5 วัน การติดต่อในลักษณะเดียวกับโรคในระบบทางเดินหายใจ การติดต่อส่วนใหญ่เป็นแบบ droplet หรือฝอยละอองของผู้ป่วยมาสัมผัสบริเวณใบหน้า หรือใช้มือจับต้อง แล้วมาโดนเยื่อบุบริเวณหน้า จะพบมีการระบาดได้เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่  สามารถติดต่อได้จากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดจากสิ่งของที่ผู้มีเชื้อไวรัสไปสัมผัสได้อีกด้วย วิธีสังเกตอาการ จะคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก มีเสมหะออกมาในปริมาณมาก แต่จะมีความรุนแรงกว่า อาการในเด็กเล็ก ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งจะทําให้เด็กมีอาการคล้ายหอบหืด รับประทานอาหารได้น้อยลง  หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี๊ด หายใจแรง หายใจตื้นๆ สั่นๆและเร็ว  อาจจะพบอาการร้องกวน ซึมลง ในเด็กทารก ไอ ออกมาเป็นเสียงโขลกๆ หรือมีเสียงหวีดๆ ในปอด มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นตัวเขียว เป็นต้น บางรายอาจมีอาการรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ

         สำหรับวิธีการป้องกันโรค RSV ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ การป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนี้

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย โดยเฉพาะทารกและเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

-ล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

-หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ๆ มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก

-ผู้ป่วยควรงดการออกนอกบ้านเมื่อไม่สบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น ควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม

-ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะทิชชูใช้แล้วทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด

-หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า

-ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบว่าเด็กที่ป่วยมาเล่นของเล่นนั้นๆ