ตรัง ห่อลูกทุเรียนด้วยถุงพลาสติก

เจ้าของสวนทุเรียนในตำบลโพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ปลูกทุเรียนหมอนทองไว้ 13 ต้น ประกอบกับเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์รุ่นใหม่ จึงได้ทดลองห่อลูกทุเรียนด้วยถุงพลาสติกเป็นรายแรกในอำเภอย่านตาขาว ปรากฏว่าทุเรียนผิวสวย ติดผลได้ดี ไม่มีปัญหาหนอนเจาะผลได้เกือบ 100 %  แถมลูกค้าจองซื้อไม่พอขาย

 

 

             ที่สวนเกษตรผสมผสานของนายสุรเชษฐ์  เส็นฤทธิ์  อายุ 36 ปี ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลโพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เป็นสวนเกษตรกรเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ แต่ปลูกไม้ผลไว้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปลูกไว้ทั้งหมด 13 ต้น แต่มี 2 ต้น ที่ออกผลดก เกษตรกรจึงได้เริ่มทดลองห่อลูกทุเรียนอ่อนที่มีขนาดเท่าไข่นกกระทาด้วยถุงพลาสติก แต่เจาะรูไว้ด้านล่างเพื่อป้องกันน้ำขัง และยังป้องกันหนอนเจาะผลได้เกือบ 100 %  ป้องกันกระรอกและแมลงชนิดต่าง ๆ จนกระทั่งทุเรียนแก่จัดพร้อมตัดขาย หรือประมาณ 120 วัน ปรากฏว่าได้ผลดี ติดทุกลูก ผิวสวย เนื้อดี รสชาติดี ปลอดภัยจากสารเคมีและยังได้ราคาดีกว่าท้องตลาดด้วย เกษตรกรจึงได้ห่อผลทุเรียนตั้งแต่ปีแรกถึงปัจจุบันเรื่อยมา   ต่อมาได้รับการคัดเลือกให้เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) และได้รับการส่งเสริมจากนักวิชาการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบในการใช้ถุงพลาสติกห่อลูกทุเรียนรายแรกในอำเภอย่านตาขาว โดยมีการสนับสนุนอุปกรณ์ในการห่อ เช่น ถุงพลาสติกและไม้สอยด้ามยาวที่ใช้ห่อลูกทุเรียนที่อยู่สูงขึ้นไป ทำให้มีเกษตรกรจากอำเภออื่น ๆ เดินทางมาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ทุเรียนทั้งสองต้นให้ผลผลิตประมาณ 70-80 ลูก แต่มีคนสั่งจองหมดแล้ว เพราะเชื่อมั่นในความปลอดภัย  ซึ่งเกษตรกรจะใช้เทคนิคดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสวนทุเรียนเจ้าอื่นแล้ว ของตนได้ผลผลิตที่ดีกว่า ส่วนไม้สอยยังสามารถใช้ห่อผลไม้ชนิดอื่น ๆ เช่น กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ และมะม่วงได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใครที่สนใจช่วงนี้ ติดปัญหาโควิด-19 ไม่สามารถเปิดสวนให้เข้าชมได้ตามปกติ แต่สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่หมายเลข 086-0455116

          ด้านนายสุรเชษฐ์ เส็นฤทธิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนห่อรายแรกในอำเภอย่านตาขาว กล่าวว่า ในตำบลโพรงจระเข้ถือว่าเป็นแปลงแรกที่ทดลองห่อทุเรียน ซึ่งเมื่อได้ผลดีก็จะขยายผลไปยังแปลงอื่น ๆ และจะหาสมาชิกกลุ่มเพิ่ม โดยตนมีทุเรียนทั้งหมด 13 ต้นติดลูกดก 2 ต้น ผลตอบรับทุเรียนของตนดีมาก มีคนมาสั่งจองเยอะมาก และเป็นแนวทางสำหรับคนที่ปลูกทุเรียนทั่วไปด้วย เพราะห่อถุงแล้วจะไม่ใช้สารเคมี     ทั้งนี้ นายอำนาจ เซ่งเซี่ยง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอย่านตาขาว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาวกล่าวว่า น้องสุรเชษฐ์ ป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาให้เป็นตัวอย่างกับแปลงอื่นต่อไป และได้คัดเลือกแปลงนี้ให้เป็นผู้ดำเนินการ เกษตรกรบางคนยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการห่อผล แต่ตอนนี้ด้วยสภาวะแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ศัตรูพืชมีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้แปลงทุเรียนประสบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดและหนอนเจาะผลเยอะ ทำให้แปลงทุเรียนได้รับความเสียหายเยอะมาก.