วิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัยคว้ารางวัล การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

วิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัยคว้ารางวัล การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ระบบผสมและพาสเจอร์ไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มแบบอัตโนมัติ ส่งต่อผู้ประกอบการ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการจัดการประกวด “กิจกรรมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ประจำปี 2564” (Smart Ago-Machinery DIProm 2021: SAMAD 2021) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม กระบวนการผลิตและเครื่องจักรกลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปที่เหมาะสม อีกทั้งเพื่อยกระดับและพัฒนาแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะสู่การเป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะอย่างมืออาชีพ รวมทั้งเป็นแนวทางในการต่อยอดและขยายผลการยกระดับและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเผยแพร่เทคโนโลยีสู่ท้องถิ่นผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน และในปีนี้มีทีมส่งเข้าร่วมประกวดฯ ทั้งสิ้น 115 ทีม วิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัย ได้ส่ง “ระบบผสมและพาสเจอร์ไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มแบบอัตโนมัติ” เข้าร่วมประกวดประกวดในกิจกรรมดังกล่าวและได้รับรางวัล “รองชนะเลิศอันดับ 1”โดยมี          ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

วิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัย มีทีมนักวิจัยคือ อาจารย์ทศพิธ วิสมิตนันท์  อาจารย์สุห์ดี นิเซ็ง  ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาริษา  โสภาจารย์ และอาจารย์นันทพงษ์ พงษ์พิริยะเดชะ ได้ให้บริการวิชาการที่ก่อให้เกิดรายได้ “กิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส”ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบหนึ่งคือ การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา กระบวนการผลิตและเครื่องมือกลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปที่เหมาะสม เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแปรรูปให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตร ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 4 กลุ่ม จากพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส วิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัย เป็นหน่วยงานให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตตอบสนองความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจที่เข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำมะนาวสร้างตนเอง โดยมีนางสาวเกศสิริ ยาโม เป็นเจ้าของกิจการประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่ 16/5 ม.2 ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี  เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจที่ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีการผลิตน้ำมะนาวสำหรับปรุงอาหารและน้ำมะนาวพร้อมดื่ม โดยจัดจำหน่ายโดยช่องทางการขายตามตลาดนัดและส่งตามร้านค้าซึ่งจัดจำหน่ายแบบวันต่อวัน เนื่องจากน้ำมะนาวพร้อมดื่มสามารถเก็บรักษาได้ประมาณ 1 วัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ จากความต้องของลูกค้าต่อน้ำมะนาวพร้อมดื่มที่มีมากขึ้น และความต้องการให้น้ำมะนาวพร้อมดื่มของกลุ่มวิสาหิจชุมชนสามารถเก็บรักษาได้ยาวนานเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องของกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร และโรงแรม และเพื่อให้ทางกลุ่มวิสาหิจชุมชนสามารถขยายตลาดและเพิ่มยอดขายได้ ทางวิทยาลัยรัตภูมิ มทร.ศรีวิชัย จึงได้วิเคราะห์ปัญหาและออกแบบระบบผสมและพาสเจอไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มแบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถเก็บรักษาน้ำมะนาวพร้อมดื่มได้ยาวนานขึ้นด้วยกระบวนการพาสเจอไรซา ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแปรูปให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ แลการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน “ระบบผสมและพาสเจอไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มแบบอัตโนมัติ” ขนาดบรรจุ 30-45 ลิตร มีระบบควบคุมอุณหภูมิโดยควบคุมการให้ความร้อนของแผ่นฮีตเตอร์ และอ้างอิงอุณหภูมิจากหัววัดอุณหภูมิ (เทอร์โมคัปเปิล) เพื่อให้ได้อุณหภูมิในการพาสเจอไรซ์คงที่ในช่วง 50-70 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งมีระบบควบคุมความเร็วในการกวนน้ำมะนาวพร้อมดื่มโดยสามารถปรับความเร็วรอบของใบกวนให้เหมาะสมได้ เพื่อให้สามารถผสมและพาสเจอร์ไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มในแต่ละครั้งให้มีส่วนผสมและอุณหภูมิในการผสมคงที่ ตัวเครื่องจะมีระบบจะแจ้งเตือนอัตโนมัติ ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อเครื่องทําอุณหภูมิถึงสภาวะที่เหมาะสมสําหรับการพาสเจอไรซ์เมื่อพร้อมสำหรับบรรจุ และการแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิเกินกว่ากําหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยจะมีการแจ้งเตือนในรูปแบบทั้ง เสียงสัญญาณเตือน สัญญาณไฟ และสามารถแจ้งเตือนผ่านระบบไร้สายได้อีกด้วย จากการพัฒนา “ระบบผสมและพาสเจอไรซ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มแบบอัตโนมัติ” ให้กับวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมะนาวพร้อมดื่ม ทำให้วิสาหกิจมีผลิตภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นโดยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมะนาวพร้อมดื่ม 20-30 ลิตร/วัน และเก็บรักษาผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวพร้อมดื่มให้สามารถเก็บได้ยาวนานขึ้น ลดระยะเวลาในการทำงานลงได้อีกด้วย