ชาวบ้านต้องบาดเจ็บล้มตายอีกเท่าไหร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะหันมาแก้ไข ?

สงขลา-สะเดา เส้นทางมรณะ ถนนกาญจนวนิช สายสะเดา-ด่านพรมแดน ทั้งไปและกลับ รถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ยึดไหล่ทาง เป็นที่จอดทั้งกลางวันและกลางคืน จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งบาดเจ็บเล็กน้อย จนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ หน้าที่ใครทำไมไม่ทำ เพราะเหตุผลใด

ถนนกาญจนวนิช ช่วงสะเดา –ด่านพรมแดน  ระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสายหลักที่ด้านหนึ่งก็เชื่อมต่อไปยังรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มุ่งสู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมักจะมีการจราจรที่คับคั่ง มีทั้งประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้เดินทางสัญจรไปมา ซึ่งเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ทราบกันดีมาโดยตลอด

ด้วยความที่เป็นเส้นทางหลักติดต่อไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ จึงเป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ทั้งรถพ่วง 18 ล้อ 22 ล้อ รถเทรลเลอร์ ต้องใช้เส้นทางนี้ ซึ่งมีข้อมูลว่าในบางวันมีรถบรรทุกขนาดใหญ่เหล่านี้ ขนสินค้า เข้า-ออก เป็นจำนวนกว่า 1 พันคัน จนเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 7 ต.สำนักขาม ยามชั่วโมงเร่งด่วนจะพบเห็นภาพรถติดยาวเป็นกิโลฯ จะเกิดจากเหตุผลใดไม่อยากจะกล่าว แต่ปัญหาที่พบคือ ความมักง่ายของคนขับหรือโชเฟอร์ ที่บางคนบางคัน ขับไม่เว้นช่องให้รถอื่น ๆ ไปได้ ถนนสี่เลนคือยึดหมด ขับและจอดปิดจุดกลับรถ จนทำให้เกิดรถติด นี่เป็นปัญหาของคนในพื้นที่ที่ทำได้คือโพสต์ระบายกันในโลกโซเชี่ยล ( แต่ไม่มีอะไรสะเทือน )มีหนักกว่าคือการที่รถขนาดยักษ์เหล่านี้ ยึดไหล่ทางเป็นที่จอดทั้งกลางวันกลางคืน จอดซ้อนคัน ( เท่ากับสองคัน ) วันดีคืนดีจอดซ้อน 3 มันซะเลย เหลือให้รถอื่นไปได้เลนเดียวก็พอแล้วว่างั้น !!!
ภาพรถบรรทุกจอดซ้อนคันมีให้ชาวประชา เห็นทั้งกลางวันและกลางคืน ที่เป็นส่วนพ่วง ( หาง ) ก็มี จอดแล้วคนขับไปหลบนอนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บ่อยครั้งที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เสียหลักพุ่งชนท้ายรถเหล่านี้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือคนที่ไม่ทันสังเกต เฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง และค่อนข้างถี่มากในเดือนสองเดือนที่ผ่านมา โชคดีก็บาดเจ็บเล็กน้อย  หนักสุดก็เสียชีวิต


ถามว่ามีใครหน้าที่ไหนเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้บ้าง ตอบว่าพอมี แต่สุดท้าย คือเหมือนเดิม จอดกันเหมือนเดิม บางที่ก็มีผู้ควบคุมกฎฯ เวียนมาจดๆ ถ่ายรูป ปรับ สถานที่เดิม ๆ บางคันไปโบกเข้าตรวจ เดี๋ยวก็มีโทรศัพท์เข้ามาเคลียร์โน้นนี่นั้น ซึ่งตรงจุดนี้น่าเห็นใจคนทำงาน คนที่โทรมาคุยหรือเคลียร์ได้นี่คงไม่ธรรมดา สักพักก็ปล่อยไป หรือว่ารถบางคันบางบริษัท ทางเจ้าของ เขาอาจมีนาย! ดูแลกันอยู่ ทีนี้พอผู้คุมกฎฯ ไปปั๊บ อ้าวของบริษัทนี้มีอยู่ในระบบแล้ว “ปล่อยสิทำอะไรได้” แต่คันที่ไม่มีแบบที่ว่า “โดน”
ว่ากันถึงเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่กว่าจะคุยกันจบ คนเคราะห์ร้ายได้มีกี่บาท (ทั้งที่จริงเรียกค่าเสียหายได้มากกว่าที่เขาบอก) จะเอาอะไรไปสู้กับเขา รถเหล่านี้เป็นรถบริษัทที่ทำประกันคุ้มครอง มีทนายประจำบริษัท มีกูรูท่านหนึ่งบอกว่า เจ้าของบริษัทมักจะมีข้อตกลงกับบริษัทประกันฯ ซึ่งมีการซื้อประกันเพิ่มนอกเหนือจากปกติ ประมาณว่าเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย แต่เพิ่มออฟชั่นการประกันครอบคลุมหมด จะชนใคร เหยียบใคร ใครมาชน ซ่อมรถคู่กรณี ประกันจ่ายฯ ซึ่งนี่แหละที่ทำให้คนขับรถเหล่านี้ (ไม่ทุกคน) มักจะย่ามใจ เพราะตัวเองไม่เดือดร้อน( กูรูท่านหนึ่งกล่าว )


กูรูท่านเดิมยังขยายเพิ่มเติม หากกรณีเกิดอุบัติเหตุ รถบรรทุกมักจะมีภาษีกว่าชาวบ้านที่เป็นคู่กรณี ยิ่งเป็นรถของบริษัทที่ดูแลกันอยู่กับระดับๆบางหน่วยงาน รวมถึงประกันฯตัวดี ประมาณว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ส่วนมากจะถูกกล่อมจนได้ไม่กี่บาท หรือไม่ได้เลย มากกว่าที่จะมองถึงความเดือดร้อน เห็นอกเห็นใจตามหลักมนุษยธรรมที่ควรมี ทั้งที่จริงแล้วกรณีแบบนี้มีโทษหนักทางอาญาข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เจ้าของหรือนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งอ่วมไปด้วยเช่นกัน


กรมการขนส่งออกมาเตือนผู้ใช้รถบรรทุก ที่จำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทาง ต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนและต้องมีไว้ประจำรถไม่น้อยกว่า 2 ชิ้นต่อคัน เพราะถ้าผู้ประกอบการขนส่งไม่จัดเตรียมเครื่องหมายไว้ประจำรถตามที่กำหนด มีความผิดตามกฎหมายฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2558 หากผู้ขับรถละเลยไม่นำมาใช้ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท


รูปแบบของเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทาง มี 3 รูปแบบด้วยกันตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องการจัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทาง พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2561 เป็นต้นมา ประกอบไปด้วย 1. เครื่องหมายเตือนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ยาวไม่น้อยกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร พร้อมขาตั้งหรือฐานตั้ง ขอบสีแดงสะท้อนแสง ด้านในเครื่องหมายอาจมีพื้นสีขาวและรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำหัวท้ายมนในแนวดิ่ง หรือมีแถบสะท้อนแสงสีแดงเพิ่มเติม หรือเป็นพื้นที่เปิดโล่งก็ได้ 2. กรวยสะท้อนแสง ต้องสูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ฐานตั้งกว้างไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร พื้นสีส้มตลอดทั้งอัน มีแถบสะท้อนสีขาวกว้างไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร คาดตามแนวนอนโดยรอบอย่างน้อย 1 แถบ 3. โคมไฟสัญญาณ ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 6 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 24 เซนติเมตร พร้อมขาตั้งหรือฐานตั้ง ส่วนของไฟสัญญาณต้องเป็นสีเหลืองอำพันกะพริบและไฟสีขาวๆ


ในกรณีที่เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง และจำเป็นต้องจอดรถบนทางเดินรถหรือไหล่ทาง ต้องวางเครื่องหมายหรือสัญญาณในระยะห่างจากรถไม่น้อยกว่า 50 เมตร เพื่อเตือนผู้ขับขี่อื่นให้สังเกตเห็นและหยุดรถได้อย่างปลอดภัย และรีบดำเนินการแก้ไขเคลื่อนย้ายรถออกจากช่องทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยเร็วเพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ( ข้อมูลจาก m.chobrod.com// ) ข้อกำหนดเขียนไว้ชัด แต่ชีวิตจริงไปดูได้เลยหน้างาน มีปฏิบัติแบบที่ว่าไหม ทีนี้ถามว่าทำไมหน่วยงานที่มีอำนาจไม่จัดการให้เด็ดขาดในเมื่อกฎข้อบังคับมันชัดเจนอยู่แล้ว
นั่นแบบวิชาการเข้าใจยาก แต่เอาแบบบ้านๆเข้าใจง่ายๆคือ รถบรรทุก รถเทรลเลอร์ไม่มีสิทธิ์จอดบริเวณไหล่ทางทิ้งค้างไว้ยาวนานเกินความจำเป็นของงาน หรือจอดได้ ก็ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่นรถเสีย แต่คุณต้องวางอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ให้คนอื่นมองเห็นชัดเจน เป็นการแสดงเจตนาป้องกันอุบัติภัยโดยชัดแจ้ง ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ( ไม่ใช่อย่างที่ ตร.บางท่านบอกว่าจอดได้ ไม่ต้องมีสัญลักษณ์อะไรในเวลากลางวัน)


นักกฎหมายบอก พวกรถยักษ์เจ้าถนนเหล่านี้หากจอดไหล่ทาง โดยไม่มีเหตุฉุกเฉิน จอดซ้อนคัน จอดเป็นเวลานาน จอดแล้วหาย เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้เลย โดยตรงก็คือตำรวจ อำเภอ สำหรับเทศกิจ ( จับไม่ได้แต่แจ้งได้) ทีนี้เลยร้องอ๋อ ที่จอดๆกันข้ามคืนข้ามวัน 100 เปอร์เซ็นต์ คือผู้มีอำนาจหน้าที่ปล่อยปละละเลยนั่นเอง …เวรกรรมของชาวประชา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถเคลื่อนย้ายโดยเจ้าของรถเสียค่าขนย้ายคืนด้วยและเปรียบเทียบปรับอัตราสูงได้ทันที แต่…ไม่เห็นมีทำกัน มักโบ้ยไปว่าไม่มีคนแจ้งเลยไม่ทราบเรื่อง ทั้งที่ก็เห็นว่าตำรวจเขามีสายตรวจตลอด 24 ชั่วโมง มิใช่หรือ ท่านผู้ใหญ่ ทั้งหลาย


นายสาธิต ลิ่ววัฒนะโชตินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลสำนักขาม คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามา และกำลังแก้ปัญหาเรื่องการจราจร การจอดของรถบรรทุก ( ซึ่งถูกสังคมจับตามองว่าจะหาทางออกเรื่องนี้ยังไง ) บอกว่า “ ถนนเส้นนี้เป็นของทางหลวง เทศบาลฯไม่มีอำนาจไปทำอะไร และเทศบาลฯไม่มีอำนาจในการไปจับรถ มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง”ซึ่งฝ่ายปกครองที่สามารถจับได้คือทางอำเภอ ตำรวจ ที่สามารถจับได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยไปคุยกับทาง สภ.สะเดา ว่ารถที่จอดบริเวณไหล่ทาง เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีคำตอบว่าเนื่องจากอุปกรณ์ในการล็อคล้อมีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่สามารถล็อคล้อได้ แต่ผมคิดว่าคนที่มีความสำคัญในเรื่องนี้มากที่สุด คือเจ้าของรถหัวลากทั้งหลาย ซึ่งตรงนี้ผมได้ทำหนังสือถึงบริษัทชิปปิ้ง บริษัทรถหัวลากทั้งหลาย ขอความร่วมมือว่าอย่าจอดรถบริเวณไหล่ทาง ถ้าจะจอดให้จอดบริเวณที่ของเอกชนไปเช่าเอกชนข้างใน ส่วนอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจะเป็นเคสในเวลากลางคืน ซึ่งเราต้องมองว่าสาเหตุก็คือรถไม่มีที่จอด

ซึ่งผมได้ประสานไปยัง อบจ.ซึ่งได้อนุมัติเนื้อที่ประมาณ 100 กว่าไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่จอดรถเทรลเลอร์ ในตอนกลางวันให้เข้าไปจัดคิว ไม่ใช่มาจัดคิวบริเวณเมืองอีกต่อไป ส่วนในตอนกลางคืนจะให้รถเทรลเลอร์เข้าไปจอด โดยมีตำรวจ อำเภอ ซึ่งผมประสานไว้แล้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เข้าไปดูแลความปลอดภัยให้ซึ่งทาง อบจ.จะนำเครื่องจักรเข้ามาปรับพื้นที่ ให้รถเข้าไปจอดได้ ซึ่งประมาณ 2-3 เดือน แต่หากทำไประยะนึงพอมีพื้นที่เราก็จะให้รถเข้าไปจอดก่อน เราจะไม่รอให้เสร็จทีเดียว โดยทางผมทางเทศบาลฯได้ขอความอนุเคราะห์ไปยัง นายก อบจ.เพื่อที่จะให้บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้อง ละรายงานให้ทราบว่าตอนนี้ปัญหานี้ คร่าชีวิตชีวิตพี่น้องชาวสำนักขามไปแล้วหลายท่าน” นั่นคือส่วนหนึ่งที่ได้คุยกับ นายกเทศมนตรี ตำบลสำนักขาม ก็คงต้องรอ  ว่าเมื่อมีที่จอดเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว รถบรรทุกสินค้าทั้งหลายจะเข้าไปจอดหรือไม่ และหากมาจอดบริเวณไหล่ทางอีก ผู้มีหน้าที่ผู้คุมกฎฯจะว่าอย่างไร โดยพื้นที่  ที่ว่าจะอยู่ตรงข้ามค่ายธนพัฒน์  หวังว่าพี่น้องชาวสำนักขามหรือจากที่อื่น ๆ ซึ่งใช้ถนนเส้นนี้ในการสัญจร จะได้รับความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน ลดการสูญเสีย… และจะไม่เป็นถนนเส้นทางสายมรณะที่คร่าชีวิตผู้คนได้หรือไม่…
ภาพเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้า “คนขับไม่มักง่าย และเจ้าหน้าที่ไม่ละเว้น”