โชว์สุดยอดนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2 ที่ปทุมธานี

ที่ หอประชุม วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีดร.ธวัชชัย อุ่ยพานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการและนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2

 

พร้อมกล่าวว่า สถาบันการอาชีวศึกษา ในฐานะผู้รับผิดชอบการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งใน และนอกสถานประกอบการ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องขับเคลื่อนกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ ทั้งในสถาบันการอาชีวศึกษา สถานศึกษาอาชีวศึกษา ทุกระดับ ทุกหลักสูตร ให้ผู้สำเร็จการศึกษา มีความสามารถในการแข่งขัน ทันสมัย ทันเทคโนโลยี และวิทยาการต่างๆ ที่กำลังก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน   ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ เน้นการพัฒนาเข้าสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้โมเดล “ไทยแลนด์ ๔.๐” ในการนำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านองค์ประกอบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน หนึ่งในองค์ประกอบดังกล่าวนั้นคือการเปลี่ยนจากแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง กำหนดการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ โดยการเติมเต็มวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา

          ด้านนายสมศักดิ์  บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 กล่าวรายงานว่า  การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย และนวัตกรรมของนักศึกษา สู่สาธารณชน อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการของสถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่ง  รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน การสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรมและแลกเปลี่ยนความรู้         ทางวิชาการ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ

ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน จะได้รับองค์ความรู้จากผลงานวิจัย และแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอาชีวศึกษา รวมถึงแนวทางการคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และการใช้เป็น โดยมีผลงานนำเสนอจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จากสถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่ง อีกเป็นจำนวนมาก