กรมควบคุมโรค ร่วมกับทุกภาคส่วน รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมแนะมาตรการเข้มข้น ป้องกันโรคไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทุกภาคส่วน รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมแนะมาตรการ พร้อมแนะมาตรการเข้มข้น เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก เผยผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบว่า ในทุกสถานที่ทั้งชุมชน โรงเรียน วัด และ โรงพยาบาล ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มีความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกจะแพร่กระจายต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้าง

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่โรงเรียนทวารวดี จังหวัดนครปฐม นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิด “โครงการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  ลดโรคไข้เลือดออก” นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และนายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต้อนรับ แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวรายงาน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันทำความดี เพื่อป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการอย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2562 นี้ จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและจะพบผู้ป่วยถึง 100,000 ราย ตลอดทั้งปี จากรายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วย 19,503 ราย เสียชีวิต 25 ราย ซึ่งอัตราป่วยตายในภาพรวมสูงกว่าปกติ คือร้อยละ 0.13 และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาครตราด นครปฐม ลพบุรี และราชบุรี ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดนครปฐม พบว่า มีผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งมีอัตราป่วยสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 683 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 75.20 ต่อประชากรแสนคน

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงมีมาตรการสำคัญ เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้มีการระบาด และขยายวงกว้าง ดังนี้ 1.ให้หน่วยงานราชการ ติดตามอย่างใกล้ชิตและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 2.ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิต โดยการจัดตั้ง Dengue Corner และการใช้ Dengue Chart ในการติดตามรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก 3.การควบคุมยุง โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกบ้าน ทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล 4.พัฒนาความรอบรู้ของประชาชน ให้เกิดความตระหนักว่าการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ เพื่อชุมชนของเราจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก รวมถึงไข้ปวดข้อยุงลายและไข้ซิก้าอีกด้วย

โครงการดังกล่าว มีกิจกรรมการส่งมอบชุดอุปกรณ์สำรวจ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและจิตอาสา เพื่อใช้ในการสำรวจภาชนะกักเก็บน้ำในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ โดยมีเป้าหมายให้ทุกสถานที่ปลอดลูกน้ำยุงลายต่อไป สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เทศบาลนครนครปฐม โรงเรียนทวารวดี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จิตอาสาและชุมชนในจังหวัดนครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 300 คน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422