ชาวนาสุพรรณบุรี เดือดร้อนหนัก ระดมกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำของหมู่บ้านหล่อเลี้ยงก่อนต้นข้าวก่อนจะยืนต้นตาย

นายไพรัช รัชสุระ กำนันตำบลดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 5 นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ตั้งในคลองระบาย  ที่หมู่ 3 จำนวน 1 ตัว และหมู่ 5 จำนวน 2 ตัว เพื่อสูบน้ำเข้าคลองในพื้นที่ให้เกษตรที่ปลูกข้าวได้ใช้น้ำ เนื่องจากน้ำในคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง(มอ.)ไม่มีน้ำ ทำให้ต้นข้าวที่มีอายุ 90 วัน ใกล้จะเก็บเกี่ยวเหี่ยวเฉาจะยืนต้นตาย ถ้าไม่รีบสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 2 หมู่บ้านที่ปลูกข้าวกว่า 300 ไร่

นายไพรัช กล่าวว่าขณะนี้เกษตรกรในตำบลดอนเจดีย์ และตำบลใกล้เคียง ที่ใช้น้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ในการทำนา และพืชสวน กำลังประสบปัญหาไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวและพืชไร่ ทำให้ข้าวที่กำลังใกล้จะเก็บเกี่ยวเริ่มเหี่ยวเฉากะลังจะยืนต้นตาย ถ้าไม่มีหาน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวมีหวังเสียหายยืนต้นตายอย่างแน่นอน ตนและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องของสูบน้ำส่วนรวมของหมู่ 3 ที่ซื้อไว้เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มาตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อสูบน้ำเข้าคลองในพื้นที่ คาดว่าจะบรรเทาทุกข์ได้ประมาณ 7-10 วัน  โดยระยะทางที่สูบน้ำทั้ง 3 จุด มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้อย่างทั่วถึง แม้จะไม่มากแต่ก็พอหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ และน้ำที่สูบในพื้นที่ ต.ดอนเจดีย์ จะไปถึงคลอง 15 ทำให้เกษตรกรในตำบลใกล้เคียง เช่นตำบลหนองสาหร่าย สามารถใช้น้ำที่ชาวบ้านหมู่ 3 และหมู่ 5 ต.ดอนเจดีย์ ออกแรงช่วยกันสูบอีกด้วยถือว่าว่าเป็นการช่วยเหลือกัน

ด้านนายละออง พลายละหาร ชาวนาในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ดอนเจดีย์ กล่าวว่าตนปลูกข้าวกว่า 20 ไร่ มีปัญหาเรื่องน้ำทุกปี แต่ปีนี้น้ำในคลอง มอ.มีต้นทุนน้ำน้อย ทำให้เกษตรกรอย่างพวกตนที่อยู่กลางคลอง มอ.น้ำมามาถึง ที่สำคัญขณะนี้ต้นข้าวเกือบ 3 พันไร่ กำลังจะยืนต้นตาย จึงได้ต้องช่วยเหลือตัวเองโยร่วมกับชาวบ้านและกำนันในพื้นที่ ยืมเครื่องสูบน้ำของหมู่ 3 มาสูบน้ำเสียจากคลองน้ำทิ้งเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงก็คงต้องเดอืดร้อนกันต่อไป

ทั้งนี้ เกษตรกรใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เดิมบางบางบวช อ.สามชุก อ.ดอนเจดีย์ และ อ.เมืองสุพรรณบุรี ที่ใช้น้ำใน คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) ซึ่งกำลังเดือดร้อนหนัก ข้าวขาดน้ำยืนต้นตาย เนื่องจากน้ำในคลองมีปริมาณน้อยจากปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับ ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรกว่า 50,000  ครัวเรือนเดือดร้อน พื้นที่กว่า  250,000 ไร่ได้รับผลกระทบ ทำให้ชาวนาแย่งกันสูบน้ำเข้านาข้าว