สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำ นักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กร ฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงพัฒนาต่อการทำหน้าที่ของ สนช. กระตุ้นให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายผู้นำที่มีประสิทธิภาพ

วันที่ ๒๑ – ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ขึ้น ณ ห้องทวารวดี ๑ โรงแรม ไมด้า แกรนด์ โฮเทล ทวารวดี นครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

โดยมีวัตถุประสงค์
– เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บทบาทหน้าที่และอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
– เพื่อสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นสนใจ มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างถูกต้องตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
– เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายร่วมกัน

โอกาสนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกับปาฐกถาพิเศษ โดยมี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เลขาธิการวุฒิสภา ปลัดจังหวัดนครปฐม ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี

การจัดโครงการฯ ณ จังหวัดนครปฐม เป็นครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นายก/สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องที่ สื่อมวลชน ศิลปินพื้นบ้าน ผู้บริหารสถานศึกษา/ครูสอนสังคมศึกษา ทนายความ ครู/บุคลากรการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย (กศน.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.)/อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๓๐ คน โดยใช้งบประมาณของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

หัวข้อการบรรยายและกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ประกอบด้วย หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย/ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ, บทบาทหน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน, พลเมืองและการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย, วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, พระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและศาสตร์พระราชา, การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์, การปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน, บุคลิกภาพและการพูดสำหรับผู้นำ และเครือข่ายกับการเผยแพร่บทบาทหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก