กรมวิชาการเกษตร นำร่อง ขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้วยการจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด ลด PM2.5 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี

กรมวิชาการเกษตร นำร่อง ขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้วยการจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด ลด PM2.5 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี

วันนี้(18 ก.พ.63) ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นางวิไลวรรณ พรหมคำ  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวขณะเป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) ว่า




การจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด เป็นการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดย กรมวิชาการเกษตรและสามารถบดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่งอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย มีพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของโลก สร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและการส่งออกปีละกว่า 200,000 ล้านบาท

ซึ่งปัญหาสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทย คือการเผาใบและเศษซากอ้อยซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการเกิดสภาวะมลพิษและโลกร้อน รวมถึงการเสื่อมคุณภาพของดิน    ซึ่งในการผลิตอ้อยให้ได้คุณภาพและมีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของโรงงานในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่สามารถแก้ไขปัญหาการเผาใบและเศษซากอ้อย และเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ให้สูงขึ้น ดังนั้น การจัดในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาล นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปกำหนดแนวทาง วางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยวอ้อยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ด้าน ดร. นิลุบล  ทวีกุล  ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคกลาง)  หัวหน้าโครงการพัฒนาต้นแบบการเก็บเกี่ยวอ้อยสด เข้าโรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกท่านทุกภาคส่วน แล้วยังเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และพี่น้องเกษตรกร จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันเพื่อพัฒนาการผลิตอ้อยของประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต