ตรัง ททท.ตรัง เร่งผลักดันการท่องเที่ยวชุมชนหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19




ททท. สำนักงานตรัง กระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชน จัดกิจกรรมคิดถึง…ชุมชนท่องเที่ยว ชวนเที่ยวหมู่บ้านกลางขุนเขา ต้นแบบความพอเพียง โดยการนำเสนอ 60 ชุมชนที่มีความพร้อมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤตโควิด-19

ที่ชุมชนเขาหลัก พื้นที่ ม.7 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง  นำโดย นางสาวลดาวัลย์  ช่วยชาติ  ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตรัง และคณะ โยมีนายสวัสดิ์  ขุนนุ้ย  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ร่วมจัดกิจกรรมคิดถึง…ชุมชนท่องเที่ยว ภายใต้การดำเนินงานโครงการคิดถึง Local & Culture เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเกิดการรับรู้และมีความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยการนำเสนอ 60 ชุมชนที่มีความพร้อมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาแข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ขณะที่นางสาวลดาวัลย์ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ททท. ได้ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดตรัง นำสมาชิกชุมชมท่องเที่ยว 12 ชุมชน จำนวนกว่า 70 คน ท่องเที่ยวใกล้ชิดธรรมชาติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน ขึ้น ประกอบด้วย กิจกรรมล่องแก่ง ชมความมหัศจรรย์ของหินผารูปร่างประหลาดตา เพลิดเพลินธรรมชาติสองฝั่งคลองแวดล้อมด้วยสวนผลไม้ และร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ของป่าเขาลำเนาไพร มีโขดหินเล็กหินน้อยสร้างความท้าทายให้แก่ผู้ล่องแก่ง สนุกสนานธารน้ำตกขนาดเล็กให้แวะเล่นน้ำ ชิมเมนูกาในฝูงหงส์ ต้นตำรับความอร่อยจากไก่ดำ เรียนรู้วิถีความพอเพียง ต้นแบบชุมชนดำเนินรอยตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเลี้ยงไก่ดำ ที่เนื้อไก่ดำมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าไก่ธรรมดาถึง 2 เท่า เมื่อนำมาสกัดจะช่วยชะลอความแก่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ รวมถึงอัลไซเมอร์ ส่วนของไข่ยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือไขมันดีเหมาะแก่สายรักษาสุขภาพ และทุกวัย การเลี้ยงแพะ การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน พร้อมทั้งสัมผัสธรรมชาติไร้การปรุงแต่งน้ำตกเขาหลัก ป่าต้นน้ำแหล่งความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน   ทั้งนี้การท่องเที่ยวในจังหวัดตรังช่วงโควิด-19 เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. เรามีนักท่องเที่ยวติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นติดลบมาเรื่อยๆ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันช่วงเดือนนี้และเดือนที่ผ่านมาอัตราการเข้าพักติดลบแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ จ.ตรังอาจจะไม่ได้มีผลกระทบเหมือนจังหวัดหลัก เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นตลาดคนไทย และอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นตลาดต่างชาติ เราล็อคดาวน์ประเทศการเดินทางยังไม่สะดวก นักท่องเที่ยวคนไทยยังเป็นเป้าหมาย จ.ตรัง เราเน้นจังหวัดเพื่อนบ้าน หลักจากคลายล็อคเราเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยทุกคนให้ความร่วมมือดี ในเมื่อเชื่อมั่นเราก็จะเห็นประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เมื่อเราสร้างความเชื่อมั่นออกสู่สื่อโซเชียล เมื่อมีคนอื่นเห็นเขาก็จะมาเที่ยวตรังมากขึ้น ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป อัตราการเติบโตของจังหวัดตรัง ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่กำลังซื้ออาจจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากโควิด-19 กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวคนไทยยังระมัดระวังอยู่ในการจับจ่ายใช้สอย แต่ความเชื่อมั่นของการออกมาท่องเที่ยวกลับมาแล้ว   น่นอนช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบต่อทุกสาขาอาชีพ การท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน อัตรารายได้จากการท่องเที่ยวน้อยลง  แต่รายได้หลักของจังหวัดตรังมาจากภาคเกษตร  อันดับสองคือการท่องเที่ยว และการบริการ โดยภาครวมพี่น้องในจังหวัดตรังอาจไม่กระทบมากนักหากเทียบกับเมืองใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่าพี่น้องที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลอดสาพิษ ประมงชายฝั่ง บางกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นช่วงวิกฤตนี้ หลายคนจะหันกลับมาใช้เศรษฐกิจพอเพียง เดินทางรอยพ่อ มาใช้ในการดำรงชีวิต