ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลุกพลังสตรี สร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เข้มแข็ง ยกระดับบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างยั่งยืน

ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลุกพลังสตรี สร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เข้มแข็ง ยกระดับบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างยั่งยืน

26 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน บรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและการบริหารจัดการหนี้” ในโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลัง สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมด้วย ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระดับจังหวัด/ตำบล/เทศบาล และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก ภาคกลาง และภาคใต้ จำนวน 1,000 คน โดยโครงการในครั้งนี้เป็น รุ่นที่ 2 ดำเนินการระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2563 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า “นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ในโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2559-2560 โดยกำหนดการเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม และเขตภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ด้วยพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรชาวไทยที่ใช้ภูมิปัญญารวมกลุ่มกันผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผ้าไทยได้มีช่องทางการตลาด จึงได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพื้นที่ ให้พี่น้อง OTOP ทุกจังหวัดในภาคพื้นที่ ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และทอดพระเนตรบูธผลิตภัณฑ์ OTOP โครงการจัดแสดงและจำหน่ายภูมิปัญญา OTOP เชิงบูรณาการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภาคเหนือ และทรงร่วมกิจกรรมสาธิตของกลุ่มอาชีพ เป็นประจำทุกวัน ทุกคนต่างชื่นชมในพระจริยวัตรที่งดงามและพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทย ทรงลงพระนามาภิไธย ทรงลงอักษรชื่อร้าน ตลอดจนทรงร่วมในกิจกรรมการสาธิตอย่างไม่ถือพระองค์ ยังความรู้สึกภาคภูมิใจ ปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มาสู่ผู้ประกอบการทุกคนที่ได้รับโอกาสอันดีนี้ สร้างรายได้เป็นมูลค่ากว่าล้านบาท

มิ่งมงคลยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งนั้น คือ พระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะรักษาและสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดการประกอบพระราชกรณียกิจกว่า 60 ปี ผ้าไทยจึงสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องสตรีมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงมีโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรผลงานที่ถ่ายทอดมาแต่บรรพบุรุษ 3 ภูมิภาค นำมาสู่นิทรรศการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค โดยนิทรรศการจัดแสดงผลงานการรังสรรค์ผ้าไทยที่ทรงมีพระวินิจฉัย ในการออกแบบสี ลวดลาย และการตัดเย็บบนผ้าย้อมครามลวดลายพระราชทาน และเสื้อผ้าที่ทรงร่วมกับดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศไทย ทั้งหมด 18 ชุด จึงขอเชิญชวนทุกท่านชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งจัดแสดงในงาน OTOP City 2020 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และทรงพระราชทานของขวัญปีใหม่แก่วงการผ้าไทยและพี่น้องชาวไทย คือ ลายมัดหมี่พระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน Eternity Love โดยเป็นผลงานจากพระราชวินิจฉัยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปยังกลุ่มทอผ้าครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงร่วมทอด้าย ปั่นด้าย ย้อมคราม ทอผ้ากับประชาชนอย่างใกล้ชิด และทรงออกแบบโดยไม่ละอัตลักษณ์ประจำถิ่นเดิม เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวต่อไปว่า เรื่องน่ายินดีประการต่อมา คือ ผลงานความสำเร็จชิ้นโบว์แดง ที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนองงานสืบสานพระราชปณิธาน ดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งได้จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ลงนาม MOU ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ในการสวมใส่ผ้าไทย และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน ทั้งนี้จึงเป็นการสร้างคุณค่าผ้าไทย กระตุ้นให้เกิดการใส่การใช้ผ้าไทย ผ้าไทยที่ต้องการมากขึ้น จากความสำเร็จนี้สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จะร่วมการขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องราวผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นให้เกิดรูปธรรมในระยะต่อไป

ดร.วันดี ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุน” ในภาษาธุรกิจ คือ “เงินตั้งต้น” โดยวันนี้ในเรื่องของทุน ทุนที่ดี คือ การนำทุนไปประกอบกิจกรรมใดๆ จากความเชี่ยวชาญ ความรู้ที่มีไปต่อยอดประกอบอาชีพ แต่ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงเปรียบเสมือนแสงสว่าง ความหวังให้กับพี่น้องสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มละ 3 คน ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้โจทย์สำคัญในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างไรให้มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือลูกหลานต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันพบว่า มีการกู้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งหมด 14,369,365,292.75 บาท ชำระคืน 9,849,695,838.30 บาท ซึ่งแบ่งกองทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนเดิมตั้งแต่ปี 2556-2559 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 52.51 % และกองทุนใหม่ปี 2560 – 2563 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 12.99% รวมทั้งหมด 29.29 % (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2563)

จากข้อมูลที่ปรากฎปัจจุบันในรายภาคพบว่า ภาคกลาง จังหวัดเพชบุรีและภาคใต้ จังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ได้เป็นอันดับ 1 ทำให้หนี้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อยอดให้กับพี่น้องสตรีสร้างงาน สร้างอาชีพต่อไป โดยตัวแทนสตรี จังหวัดเพชรบุรี ของภาคกลางมีการบริหารจัดการหนี้ลดลง 4.61 % เนื่องจากเพชรบุรีมีหนี้ไม่มากนัก เป็นหนี้เก่าในระหว่างปี 2555-2556 ประมาณ 13% ในขณะที่ไม่มีหนี้ใหม่ และได้รับความกรุณาจากคณะทำงานจังหวัดได้ให้แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ พิจารณาอายุมีความเหมาะสมต่อการกู้หรือไม่ ตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้ลักษณะของสถานที่ประกอบการมีลักษณะเป็นการเช่าหรือเป็นเจ้าของ โครงการมีความซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ มีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยต้องมีการวางแผนงานงบประมาณที่ชัดเจน ในความดูแลของเครือข่ายส่วนราชการต่างๆ และสร้างความช่วยเหลืออย่างครบวงจร ในส่วนของจังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ลดลงได้เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ 7.39 % โดยอาศัยการบริหารงานด้วยการวางแผนร่วมกันระหว่างพัฒนาการจังหวัดและคณะทำงานขับเคลื่อนสตรีในทุกระดับ ต่อการบริหารจัดการกลุ่มหนี้เสีย โดยการเข้าไปสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากอะไร แล้วจึงนำปัญหาเหล่านั้นมาพูดคุย วางแผน ร่วมกันเพื่อเร่งติดตาม และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดต่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างยั่งยืน พวกเราต้องรวมพลัง จับมือกัน สร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัด เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาศักยภาพกลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีสู่การพัฒนาชุมชน เพื่อนำความรู้ไปช่วยในการสร้างจุดแข็ง เสริมจุดอ่อนในการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในแต่ละจังหวัดให้มีประสิทธิภาพเกิดความยั่งยืน และร่วมกันให้คำมั่นต่อพี่น้องสตรีในการติดตามการบริหารจัดการหนี้ค้างชำระสู่เป้าหมายร้อยละ 10 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” ต่อไป