การประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างแผนกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างแผนกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๕๘ ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ อันจะนำไปสู่การจัดทำร่าง แผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยมีหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน นักวิชาการและประชาชนเข้าร่วม ทั้งนี้ ดร.จรูญ ไชยศร รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มอบหมายให้ นายนรกิจ ศรัทธา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการประชาสัมพันธ์เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ จ.นนทบุรี

การประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างแผนกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการตั้งประเด็น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างแผนกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา ๒๕๘ ข. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วย ประเด็นที่ ๑ เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน รวมทั้งการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและบริการประชาชน ประเด็นที่ ๒ เรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ประเด็นที่ ๓ เรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐ เพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเด็นที่ ๔ เรื่องของการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวเปิดเผย ตรวจสอบได้และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ในที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง และทำให้การดำเนินงาน และทำให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินการไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชน