สุพรรณบุรี เตรียมจัดประกวดรำวง “เพลงรำวงสุพรรณบุรี”เดินหน้าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี จังหวัดแรกของประเทศไทย

ที่ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลวัดป่าเลไลยก์  อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  จังหวัดสุพรรณบุรี    นายวีระ  ทวีสุข  ศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี  ได้ประชุมคณะกรรมการประกวดรำวง “เพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรี” ระดับนักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป  ประจำปี 2564  ขับร้องโดยนายณัฐภัทร  สุวรรณประทีป  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  และเป็นประธานคณะกรรมการ  เพื่อเดินหน้าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี  ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยร่วมเป็นเครือข่ายของยูเนสโก้

           นายวีระ  ทวีสุข  ศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี  เปิดเผยว่า  คณะกรรมการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์สุพรรณบุรี  มีมติเห็นชอบให้จังหวัดสุพรรณบุรีสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี  ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก้ (UCNN : UNESCO  CREATIVE  CITIES  NETWORK)  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการอย่างสร้างสรรค์  โดยร่วมมือระหว่างประเทศหรือในภูมิภาค  หรือระหว่างชุมชนในท้องถิ่นเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้  ทรัพยากรธรรมชาติ  ที่มีในแต่ละท้องถิ่น  ชุมขนและระหว่างประเทศสมาชิก  เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรองรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรีดำเนินการจัดการประกวดรำวง“เพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรี” โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการในครั้งนี้  ประกอบด้วย  วัฒนธรรมท้องถิ่นสุพรรณบุรี  สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7  ท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี  วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 ถึง 3  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุพรรณบุรี  วิทยาลัยอาชีวศึกษา  ศูนย์การศึกษาอกโรงเรียน  นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากแม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านอีแซว  ปี 2539 เป็นที่ปรึกษา

           การแข่งขันการประกวดรำวงในครั้งนี้จะใช้เพลง “รำวงเมืองสุพรรณบุรี” เป็นเพลงแข่งขันซึ่งขับร้องโดย   นายณัฐภัทร  สุวรรณประทีป  ผวจ.สุพรรณบุรี  ความยาวประมาณ  5  นาที  โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น  2  รอบ  คือ รอบแรก โดยให้แต่ละทีมที่เข้าร่วมการประกวดอัดเป็นคลิปวีดีโอส่งให้คณะกรรมการตัดสิน  และรอบสุดท้ายทีมที่ผ่านการคัดเลือก  ในเบื้องต้นได้กำหนดสถานที่แข่งขันเป็นเวทีกลาง  คือ  หอประชุม อบจ.สุพรรณบุรี  สำหรับเกณฑ์จะมีท่าบังคับ  คือ ท่ารำวงมาตรฐานและท่ารำวงประยุกต์หรือท่าสร้างสรรค์  เพื่อให้สอดคล้องกับเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี  ทั้งนี้เพื่อให้การแข่งขันครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม  จึงได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น  7  ประเภท  ได้แก่  1.ระดับชั้นอนุบาล  2.ระดับชั้นประถมศึกษา  3.ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  4.ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.  5.ระดับอุดมศึกษา/ปวส.  6.ประชาชนทั่วไป  และ 7.ผู้สูงอายุ  ซึ่งแต่ละประเภทนั้นจะมีผู้แข่งขันได้ทีมละ  10  คน  โดยทีมที่ชนะเลิศ  รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่และเกียรติบัตร  เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2564  และจะเริ่มการประกวดรอบแรกในเดือนกรกฎาคม 2564  และในเดือนสิงหาคมจะเป็นการแข่งขันในรอบสุดท้าย  นอกจากนี้เพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนได้รู้จักวัฒนธรรมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของจังหวัดสุพรรณบุรีมากยิ่งขึ้น  จึงได้เพิ่มรางวัล popula  vote ให้กับทุกทีมในแต่ละประเภทที่มีคะแนนโหวตในยูทูบสูงสุดด้วย

           นายวีระ  กล่าวเพิ่ม  ขณะนี้ประเทศไทยมีจังหวัดต่างๆ ที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านต่างๆ 4  จังหวัด  คือ  ปี 2558 จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร  ปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน  ปี 2562 จังหวัดสุโขทัยเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน  และ ปี 2562  จังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ  สำหรับเมืองสร้างสร้างสรรค์ด้านดนตรีตอนนี้ยังไม่จังหวัดใดเป็นเครือข่ายของยูเนสโก้  ซึ่งถ้าจังหวัดสุพรรณบุรีทำสำเร็จจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี   ซึ่งเมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีได้รับการรับรองเป็นเครือข่ายของยูเนสโก้แล้ว  จะถูกปักหมุดในพื้นที่โลกให้ทุกคนได้รู้จักสุพรรณบุรี   ก็จะส่งผลดีในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ด้านการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาสุพรรณบุรีมากขึ้น  นักดนตรีทั่วโลกจะหมุนเวียนมาประชุมที่สุพรรณบุรี  ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนมากขึ้น