นายกรัฐมนตรีปลื้มปีติพระมหากรุณาธิคุณ ให้ พช. นำผ้าลายขอเจ้าฟ้าฯ มาจำหน่ายให้ ครม. หนุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน

นายกรัฐมนตรีปลื้มปีติพระมหากรุณาธิคุณ ให้ พช. นำผ้าลายขอเจ้าฟ้าฯ มาจำหน่ายให้ ครม. หนุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดแสดงและจำหน่าย นิทรรศการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเพื่อประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายผ้าไทย “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จากโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานภายใต้พระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้เป็นที่นิยมสู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส และได้พระราชทานแบบลายผ้า“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พี่น้องประชาชน เพื่อเป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้าและพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ และส่งเสริมอาชีพ พร้อมเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กราบขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนส่งเสริมผ้าไทยอย่างจริงจังทั้งการเป็นผู้นำสวมใส่ผ้าไทย รวมทั้งให้ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาเผยแพร่ต่อ คณะรัฐมนตรี ในวันนี้ และมีมติครม. เมื่อ 9 มิถุนายน 2563 รณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ยอดการจำหน่ายผ้าไทยในเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2563 เป็นเงิน 8,369,792,260 บาท ทำให้กลุ่ม OTOP ผ้าไทย มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยในช่วงเดือนมกราคม -มีนาคม 2564 เพิ่มขึ้นมากถึง จำนวน 283,721,770 บาท และนับเป็นความโชคดีของชาวไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทยผ่านกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในงาน OTOP CITY 2020 ทำให้มาช่วยกระตุ้นยอดขายผ้าไทยเฉพาะลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณวรีฯ ยอดการจำหน่ายเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2563 เป็นเงิน 8,369,792,260 บาท และนับแต่กลางเดือนมกราคม – 29 มีนาคม 2564 สูงถึง จำนวน 22,937,000 บาท ยอดการจำหน่ายผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ของกลุ่มอาชีพจากทั่วทุกภูมิภาคที่ได้นำมาจัดนิทรรศการ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ยอดจำหน่าย จำนวน 147,750 บาท และยอดการจำหน่ายวันที่ 30 มีนาคม 2564 กลุ่มที่ 1 กลุ่มแม่บ้านสวาย จ.สุรินทร์ ยอดจำหน่าย 171,500 บาท, กลุ่มที่ 2 เทรดเดอร์จังหวัดนครราชสีมา ยอดจำหน่าย 304,000 บาท, กลุ่มที่ 3 ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 72,500 บาท และกลุ่มที่ 4 ชัยบาติก จ.ภูเก็ต จำนวน 18,200 บาท รวมยอดการจำหน่ายทั้งสิ้น จำนวน 713,950 บาทและมีแนวโน้มจะมียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณผ้าที่สามารถผลิตได้เพิ่มมากขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเรื่อง การอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จัก และการประกวดลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ นี้ถือเป็นการ kick off ในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอด โดยการส่งเสริมศิลปินคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการทำงานถักทอผ้า ต้องไม่ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามกติกาที่ได้วางไว้ สุนทรียศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ส่งต่อบรรพบุรุษดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนารูปแบบความต้องการในยุคปัจจุบัน เพื่อต้องการยกระดับ คุณภาพลายผ้าไทย เส้นใย และสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่อง ผ้า โดยไม่จำกัดอายุ โดยการประกวดครั้งนี้ แบ่งเป็น 15 ประเภท ตามเทคนิคเอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ แบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับภูมิภาค ในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2564 และระดับประเทศ ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2564 ระดับภาค กำหนดพื้นที่ดำเนินการในระดับภาค 4 ภาค 4 จุด ประกอบด้วย
– ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2564
– ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2564
– ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2564
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2564
โดยนำผ้าที่ได้รับการเข้ารอบในระดับภูมิภาคสู่การประกวดในระดับประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพของผ้าไทยต่อไป ซึ่งได้มีการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทานแยกตามชนิด คัดเลือก The Best of Best รางวัลเดียวจาก 15 ประเภท คัดเลือก The Best โดยนำที่ 1 ของ 15 ประเภท มาเรียงลำดับที่ 1 – 3 และคัดเลือก Top 10 ของ 15 ประเภท เป็นรางวัลชมเชย อย่างไรก็ตาม ในการประกวดรอบสุดท้ายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พระองค์ท่านจะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินในระดับประเทศด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งรางวัลพิเศษ the best of the best ในการนำผ้าที่ชนะเลิศไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ ใส่ไปงาน OTOP Midyear 2021 ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประกวดที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินต่อไป

ในการนี้ ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่ เป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชน รวมถึงปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล พร้อมดึงรายได้สู่ชุมชนอันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดฯ ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือทาง Facebook กรมการพัฒนาชุมชน หรือติดต่อเบอร์ 02 -141- 6179 รวมถึงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั่วประเทศ อธิบดี พช. กล่าว.