พช.เชียงดาว เดินหน้า “เอามื้อสามัคคี”ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสร้างฐาน “คนหัวเห็ด” ส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

พช.เชียงดาว เดินหน้า “เอามื้อสามัคคี”ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสร้างฐาน “คนหัวเห็ด” ส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

วันที่ 30 เมษายน 2564 นางพรทิพย์ สมโสภา พัฒนาการอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นางเพ็ญศิริ หวันน้อย นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ พัฒนากรผู้ประสานงานตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ฐานการเรียนรู้ “คนหัวเห็ด” ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการรวมกลุ่มของตัวแทนครัวเรือนพัฒนาในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 คน ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแปลงของ นายพิทักษ์ หน่อคำ หมู่ที่ 6 บ้านสบคาบ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

นางเพ็ญศิริ หวันน้อย เปิดเผยว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงตระหนักอย่างดียิ่งในคุณค่าแห่งแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมุ่งมั่นยึดแนวพระราชดำรินี้เป็นแสงส่องนำทางความสุขที่ถาวร แก่แผ่นดินไทย ดังทรงพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยผสานแนวทางทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นหนทางสร้างความดีงานในชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน โดยตลอดมากรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลเป็นธรรม มีภูมิคุ้มกันในทุกครัวเรือน และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสังคม

สำหรับกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี ในวันนี้ เป็นการพัฒนา สร้างความรู้ ความเข้าใจ วิถีแห่งความพอเพียง ให้ประชาชนเกิดการยอมรับและน้อมนำไปปฏิบัติ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน นั้น คือ การสร้างพลังแห่งความสมานสามัคคี เอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในชุมชน ท้องถิ่น และการเพิ่มทักษะการดำเนินชีวิตในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงทุกขั้นตอน โดยใช้กระบวนการ “ฐานคนหัวเห็ด” การเพาะเห็ดฟาง 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพื่อจัดทำเป็นแปลงสาธิตภายในศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา” ประชาชนในหมู่บ้านสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ซึ่งการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยเป็นวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมกันมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่ ประหยัดวัสดุเพาะเห็ด ใช้ระยะเวลาเพาะสั้น จึงสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาล ปกติแล้วเกษตรกรจะเพาะในฤดูหลังนา เพราะมีฟางข้าว และตอซัง เป็นวัสดุเพาะ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่เหลือใช้จากครัวเรือนและการเกษตร มาให้เกิดประโยชน์เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และ 2) การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ที่เป็นรูปแบบการเพาะเห็ดฟางที่ประยุกต์ใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นโครงสร้างของกองวัสดุเพาะ เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดฟางในพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีแปลงไร่นา มีพื้นที่น้อย หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนเมือง โดยผลงานความร่วมมือเพาะเห็ดฟางในรูปแบบที่ 2 นี้ จะมอบให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นดังจุดเริ่มต้นเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู้กับวิกฤตการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ และขยายผลสู่ทุกครัวเรือนต่อไป”

นางเพ็ญศิริ กล่าวต่อไปว่า “การเพาะเห็ดฟางนั้น เราจะสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับพืชผักหลายชนิด และที่สำคัญมั่นใจได้ว่าปลอดภัยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี การเพาะก็ทำได้ง่าย วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และทำได้ตลอดทั้งปี กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการจัดทำหนึ่งใน 3 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานคนหัวเห็ด ฐานการแปรรูปกล้วย และฐานต้นกล้าพันธุ์ดี ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแปลงของ นายพิทักษ์ หน่อคำ ในพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านสบคาบ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในพื้นที่อำเภอเชียงดาว มีจำนวน 18 แห่ง วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง และชุมชนอย่างมีทิศทางที่สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศักยภาพและบริบทของชุมชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้แทนครอบครัวพัฒนา กลุ่มองค์กรชุมชน/เครือข่ายชุมชน ด้วยการร่วมเรียนรู้คู่การปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เชื่อมโยงกับพื้นที่ครัวเรือนเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ “โคก หนอง นา” ก้าวไปตามการพัฒนาใน 3 ระดับ คือ ขั้นต้น ระดับครัวเรือน เพื่อการพออยู่ พอกิน ขั้นก้าวหน้า ระดับกลุ่ม ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ให้อยู่ดี มีสุข และระดับชุมชน ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมสร้างหลักประกัน สวัสดิการ ความสัมพันธ์ในชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนที่หลากหลายและยั่งยืน”