สุพรรณบุรี สส.ณัฐวุฒิ ควงสจ.ช้าง ลงพื้นที่ตรวจสอบต้นตอถนนทรุด อ.บางปลาม้า

กรณีชาวบ้านที่ใช้ถนนเข้าหมู่บ้านเลียบคลองชลประทาน บ้านทรงกระเทียม หมู่ 4 ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ร้องเรียนว่าถนนลาดยางด้านฝั่งคลองชลประทาน เกิดทรุดตัวลึกลงไปประมาณ 2 เมตร ต่อมานายวิชัย ภูมิวัฒนาชัย(สจ.ช้าง)สจ.เขต อ.บางปลาม้า  ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าถนนทรุดตัวลงไปกว่า2 เมตร เป็นระยะทางประมาณ 50 เมตร ทำให้ประชาชนสัญจรไปมาอย่างทุกลักทุเล สาเหตุเกิดจากระดับน้ำในคลองลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกรมชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาได้เพียงพอ เมื่อไม่มีน้ำปล่อยลงมาตามระบบชลประทาน ชาวนาจึงสูบน้ำที่มีอยู่ในลำคลองจนแห้งถึงท้องคลอง จึงทำให้ ถนนเกิดการทรุดตัว

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 26 พ.ค.นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วยนายวิชัย ภูมิวัฒนาชัย(สจ.ช้าง) สจ.เขต อ.บางปลาม้า และคณะได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมนำเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าขณะนี้ทุกฝ่ายทราบถึงวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ที่กระทบต่อพี่น้องเกษตรกรชาวนาเป็นอย่างมาก

ขณะนี้ ผวจ.สุพรรณบุรี สส. สจ. นายอำเภอ ทราบถึงวิกฤติในครั้งนี้แล้วกำลังเร่งหาทางช่วยเหลือแก้ไขทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเอาน้ำมาจากคลองพระยาบันลือ จากคลองจระเข้สามพัน จากเจ้าพระยา ได้พยายามระดมช่วยเหลือแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้ ที่ฝนทิ้งช่วงไปประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องเกษตรอย่างมาก ภายในอนาคตอีก4-5 วันนี้ ถ้าฝนไม่ตกลงมาจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแน่นอน และแผนต่อไปถ้าไม่มีน้ำจริงๆ ทางจังหวัดสุพรรณบุรี คงจะต้องประกาศภัยแล้งเพื่อชดเชยให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาโดยเร็ว เพื่อจะได้สามรรถทำนาได้ทันก่อนน้ำจะมา เพราะพื้นที่บางปลาม้า เป็นทุ่งรับน้ำ  ต้องรีบทำนาให้เร็ว จึงขอฝากถึงกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ด้วยว่าให้พิจารณาการช่วยเหลือลำดับแรกในพื้นที่ที่รับนำแบบนี้ให้ปล่อยน้ำมาโดยเร่งด่วนก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้

ด้านนายวิชัย ภูมิวัฒนาชัย สจ.ช้าง กล่าวว่าถนนสายดังกล่าวที่ทรุดพังนั้นเกิดจากน้ำในคลองลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ปัญหาดินสไลด์ไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ สาเหตุที่น้ำลงอย่างรวดเร็ว เพราหลังจากวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทานประกาศให้ชาวนาเริ่มทำนาเพราะเข้าสู่ฤดูฝน แต่พอชาวนาเริ่มทำนาในพื้นที่ อ.บางปลาม้า ประมาณ 4 แสนไร่ ชลประทานส่งน้ำมาได้ไม่พอเพียง จึงทำให้ชาวนาต้องสูบน้ำจากคลองดังกล่าวจนแห้ง ขณะนี้ทุกพื้นที่ในเขตลุ่มต่ำลำบากกันถ้วนหน้าเรื่องน้ำ จึงอยากให้ชลประทานเร่งปล่อยน้ำให้เกษตรกรถ้าฝนยังมี่ตกเสียหายแน่นอน นายวิชัย กล่าว