ผอ.สคร. 5 ราชบุรี แนะสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กรมควบคุมโรค เผยวัยรุ่นและผู้ใหญ่เสี่ยงป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นจากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคประจำตัว น้ำหนักเกินมาตรฐาน เน้นขอให้สังเกตอาการหากมีไข้สูงเฉียบพลันแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที อย่ารีรอเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง แนะประชาชนที่อาศัยหอพักหรือคอนโดสำรวจแจกัน ถาดรองต้นไม้พร้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ทันที และ ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ป้องกันโรคไข้เลือดออก  คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ในคราวเดียวกัน คือ 1. โรคไข้เลือดออก       2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงควรสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการ ไข้สูงมาก    โดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ  ดังนั้น ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า  อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้  ซึ่งไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เสี่ยงเกิดน้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย

        นายแพทย์สุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยได้ง่าย เพราะการกระจุกตัวของประชากร ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยและทำงานอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรืออาศัยในหอพักหรือคอนโดมิเนียม ขอให้สำรวจลูกน้ำยุงลายตามแจกันต้นไม้ ถาดรองน้ำตามต้นไม้ หรือแหล่งน้ำขังที่ใสสะอาด หากพบลูกน้ำ ยุงลายให้คว่ำหรือทำลายแหล่งนั้นทันที และหมั่นเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ หรือใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด เป็นต้น เพื่อเป็นการทำลายต้นตอของโรคไข้เลือดออก หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422