ททท.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง เที่ยวสุขใจ ไปด้วยกัน สุพรรณบุรี-อ่างทอง

นางสาวพิมพกานต์ พิพิธธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี  พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอ่างทองและ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามโครงการเที่ยวสุขใจ ไปด้วยกัน สุพรรณบุรี-อ่างทอง เพื่อเตรียมจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเสนอขายตามแผนโครงการ 2565 อย่างสมดุลทั้งด้านคุณค่า คุณภาพ ความปลอดภัย  ประกอบกับ สสพ. ได้กระตุ้นการเข้าร่วมมาตรฐาน SHA และแนะนำการประชาสัมพันธ์มาตรฐาน SHA & safety travel รวมทั้ง เน้นการตรวจอุณหภูมิ ลงชื่อก่อนเข้าพื้นที่และ สแกนไทยชนะ โดยลงพื้นที่ดังนี้

– วัดไชโยวรวิหาร  จังหวัดอ่างทอง ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำจะมีปริมาณมาก โดยทางวัดได้ก่อปูนเพื่อกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าวัด และยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมและกราบไหว้หลวงพ่อโตเพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างต่อเนื่อง

– กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรรำมะสัก เป็นแหล่งผลิตสินค้าเพื่อความงามจากธรรมชาติ ชื่อดังของจังหวัดอ่างทอง ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร “พรมจันทร์” ซึ่งไม่เพียงจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก โดยการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้าสงัด พรมเมศ ประธานกลุ่ม เล่าว่า มีสินค้าหลากหลาย ได้แก่ ชา ยาสระผมสมุนไพร สบู่ โลชั่นสมุนไพร สมุนไพรขัดผิว น้ำมันนวดจากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ลูกประคบสมุนไพร ยาสีฟัน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ห่วงใยและใส่ใจสุขภาพตนเอง อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งตรงตามแผน BCG Model และสามารถต่อยอดได้

นอกจากนี้ สสพ.ได้ดำเนินการแนะนำมาตรฐาน SHA พร้อมเชิญชวนสมัครด้วย

– แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี ค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมาก อายุราว 4,000-3,500 ปี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในสุพรรณบุรี จากการพูดคุย กับนักโบราณคดีที่อยู่ระหว่างเก็บกู้หลักฐาน เล่าว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน ซึ่งระหว่างที่กำลังปรับหน้าดินเพื่อทำการเกษตร ได้พบชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงยุคหินใหม่ กรมศิลปากรจึงได้เข้าขุดค้น มาตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นเวลา 17 ปี สามารถขุดค้นไปได้แค่เพียง 500 ตารางเมตรจากจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรซึ่งคาดว่าครอบคลุมพื้นที่ถึง 20 ไร่ ปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก

– เขื่อนกระเสียว เขื่อนดินที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศไทย (เขื่อนดินที่ยาวที่สุดคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) กั้นลำห้วยกระเสียวตั้งอยู่ที่ บ้านนาตาปิ่น หมู่ที่ 3 ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว กรมชลประทาน

จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนกระเสียวมีปริมาณเกินความจุล้นสปริงเวย์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี จึงทำให้มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก