สุพรรณบุรี ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หลังประชาชนชาวบางปลาม้า – สองพี่น้อง น้ำท่วมนาน 2 เดือน ไร้ที่อยู่อาศัย

วันนี้(9 พ.ย.64) ห้องประชุม อบจ.สุพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี และสมาชิกสภา อบจ.สุพรรณบุรี ในเขตพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน โดยเฉพาะ อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า บางส่วนของ อ.อู่ทอง และ อ.เมือง
ส่วนแรก คือ การระดมความช่วยเหลือ ช่วงรอการระบายน้ำ แบ่งเป็น เรื่องกิน การขับถ่าย และการเดินทาง โดยเรื่องอาหารการกิน มีการแจกจ่ายถุงยังชีพพระราชทานไปยังครัวเรือนต่างๆ แต่อย่างไรก็ไม่ทั่วถึงครบทุกครัวเรือน เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 56,000 ครัวเรือน ทางจังหวัดจึงได้ขอความร่วมมือ อบจ.จัดซื้อถุงยังชีพให้อีก 5 หมื่นชุด โดยในวัน พรุ่งนี้ เวลา 8.30 น. ถุงยังชีพจาก อบจ.จะส่งไปยังประชาชนพื้นที่อำเภอสองพี่น้องและอำเภอบางปลาม้า

เรื่องการขับถ่าย การเบิกจ่ายค่าจัดทำสุขาลอยน้ำติดเรื่องระเบียบงบประมาณ ที่เบิกได้เพียงหลังละ 1,700 บาท แต่ต้นทุนค่าจัดทำจริงๆ สูงถึงหลังละ 4-5 พันบาท ปภ.ได้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนโดยประสานขอส้วมกระดาษไปที่ SCG 800 ชุด และได้แจกจ่ายไปหมดแล้ว ส่วนสุขาลอยน้ำ ตอนนี้ทำแจกจ่ายไปได้เพียงประมาณ 100 หลังเท่านั้น

ส่วนเรื่องการเดินทาง ยังมีประชาชนต้องการเรือเล็กๆเพื่อเดินทางจากบ้านมาที่ถนน ปภ.ได้แจกจ่ายเรือให้ประชาชนไปแล้ว จำนวน 408 ลำ ซึ่งยังไม่พอกับความต้องการ ผู้ว่าฯจึงขอสนับสนุนงบประมาณจากเพื่อนที่มาทอดกฐินที่สองพี่น้อง ได้รับการสนับสนุนมา 1 แสนบาท ติดต่อ ปภ.ซื้อเรือแจกจ่ายเพิ่ม หากมีเงินเหลือจะทำสุขาลอยน้ำเพิ่มเติม

สำหรับการระบายน้ำ ต้องลดน้ำเข้า เร่งน้ำออก โดย รมต.วราวุฒิ ศิลปอาชา ได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำที่สุพรรณบุรีทุกอาทิตย์ ใช้ ฮ.กระทรวงทรัพฯ บินสำรวจตามแม่น้ำท่าจีน ถึงเขื่อนเจ้าพระยา พบง่าน้ำในเขตทุ่งโพธิ์พระยาล้นมาก จึงขอให้ทางชลประทานลดการระบายน้ำที่ประตูพลเทพ แต่กลับมีการเพิ่มการระบายน้ำที่อีกประตูหนึ่งแทน น้ำจึงเข้าสุพรรณเพิ่มขึ้นทางเขตตำบลสาลี อ.บางปลาม้า จึงทำให้เห็นว่าน้ำในจังหวัดสุพรรณบุรี ยังไม่ลดลง ประชาชนจึงเข้าใจว่าภาครัฐยังไม่ได้ทำอะไร

ทั้งนี้ ในส่วนของการเร่งการระบายน้ำออก รมว.ทส. ได้นำเครื่องผลัดดันน้ำมาติดตั้งร่วมกับของกองทัพเรือ แต่ผลที่ได้ไม่คุ้มกับค่าน้ำมัน (ของกองทัพเรือใช้น้ำมัน) จึงประสานขอจากพื้นที่อื่นที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วมาทดแทน โดยติดตั้งอยู่ที่บริเวณสะพานวัดท่าเจดีย์ อย่างไรก็ตาม ด้วยแม่น้ำท่าจีนมีลักษณะเป็นสันดอน ระบายน้ำได้เพียง 350 ลบ.ม./วินาที ไม่เหมือนเจ้าพระยาที่ระบายได้ราว 3,000 ลบ.ม./วินาที จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งทางจังหวัดได้ขอจุลินทรีย์มาใช้แก้ปัญหาแล้ว

ส่วนปัญหาสุขภาพอนามัยประชาชน ผู้ว่าฯ ฝาก รพ.สต.ดูแลเรื่องน้ำกัดเท้าควบคู่กับเรื่องโควิด และอยากให้ลงพื้นที่ไปช่วยให้กำลังใจประชาชนที่เดือดร้อน เนื่องจากต้องประสบปัญหาน้ำท่วมนานเป็นเดือน อาจส่งผลต่อสุขภาพทางใจของประชาชนได้

ด้าน รมว.ทส.ซึ่งอยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ ที่สก๊อตแลนด์ สหราชอาณาจักร ได้ร่วมประชุมผ่านแอพพลิเคชั้นไลน์ พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ รู้สึกเป็นห่วงพื้นที่ อ.บางปลาม้าและอ.สองพี่น้องที่ได้รับผลกระทบมาก จึงอยากฝาก อบจ.ให้ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเต็มที่ และขอบคุณ การทุ่มเทเข้าช่วยเหลือประชาชนของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ขอให้เร่งช่วยเหลือประชาชน. ทั้งสุขาลอยน้ำ ทั้งขยะ ขอให้ร่วมกันดูแล และขอให้เตรียมการเยียวยาประชาชนหลังน้ำลดไว้ด้วย อาทิ เงินเยียวยา การซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

ทางด้านนายอุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมต.ทส.กล่าวว่า ทางด้าน รมต.ทส. ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนชาวสุพรรณบุรีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพราะ อ.บางปลาม้า และ สองพี่น้อง มานานกว่า 2 เดือนแล้ว จึงเชิญผู้แทนทุกภาคส่วนมาร่วมประชุม วางแผน โดยทาง นายวราวุธ ได้ ประชุมทางไกล จากประเทศสก๊อตแลนด์ เพื่อสั่งการบูรณาการราวมกันทุกฝ่าย เพื่อดูแลประชาชน ส่วนพื้นที่ อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง เป็นพื้นที่แก้มลิง แต่ปีนี้กลายเป็นทะเล ซึ่งต้องพูดคุยวางแผนในอนาคต ไม่ใช่เวลาน้ำแล้ง ไม่ให้เรา แต่น้ำมีมาก กลับให้เรารับน้ำ ต้องมีการบริหารการจัดการน้ำที่ถูกต้อง และทางด้านปิยพจน์ เกียรติชูสกุล หรือกำนันพุก ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.สองพี่น้อง จะได้มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม จะมีการดำเนินคดีทางแพ่งกับกระทรวงเกษตรฯและกรมชลประทาน และ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่โยนภาระมาให้ชาวสุพรรณบุรีรับผิดชอบต่อไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ได้แก่ 1.มอบหมายนายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รับผิดชอบ การช่วยเหลือเยียวยา การมอบถุงยังชีพ /สุขาลอยน้ำ 2. มอบหมายนายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ/ ดูการระบายน้ำ เข้าออก ต้องมีความสมดุล ตลอดจนการใช้เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องไฟฟ้า เพื่อเร่งช่วยเร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ และการฟื้นฟู เยียวยา บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และ3.มอบหมายนายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าจังหวัดทำอะไรบ้าง ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน อย่างต่อเนื่อง