กระทรวงสาธารณสุขจับมือมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ระดับจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก

วันที่ 26 พฤศจิกายน ..2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต  วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา พร้อมกับบรรยายพิเศษ หัวข้อทำไมต้องควบคุมยาสูบจัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยในส่วนของจังหวัดนครปฐมมี นางจริยาพันธ์  รุจิรัชกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา  บัวเวช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ และนายธัญพร  ดังตราชู  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ รูปแบบออนไลน์

ต่อจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณญา  เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย หัวข้อสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยตามด้วยการเสวนาหัวข้อความสำคัญและความคาดหวังของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดโดย นายแพทย์ชยนันท์  สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อจุดเน้นกฎหมายควบคุมยาสูบ สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจและถูกต้องโดย นายจิรวัฒน์ อยู่สบาย รองผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อบทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ  กันภัย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และหัวข้อประสบการณ์สื่อมวลชนกับการขับเคลื่อนงานด้านนโยบายโดย นางสาวกนกพรรณ  รัตนวิเวก ตัวแทนสื่อมวลชนของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และปิดท้ายด้วยหัวข้อบทบาทมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กับการหนุนเสริมการดำเนินงานควบคุมยาสูบ โดยนางสาวแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณญา  เบญจกุล กล่าวถึงผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน  78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14%ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคนเป็นที่สูบบุหรี่ทุกวัน  40,724 คน และสูบบุหรี่แบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15 – 24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดาร้อยละ 26.70 เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าร้อยละ 11.3 และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากันร้อยละ 62 ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนและอัตราคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ปี 2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คนนับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา