ผู้ว่าฯสุพรรณบุรี มอบประกาศเชิดชูเกียรติคนบวชใจ งดเหล้าครบพรรษา สร้างคนดีมีธรรม สังคมเป็นสุข เชื่อมโยงโครงการคนดีศรีสุพรรณบุรี

ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี หนุนชุมชนคนสู้เหล้าจังหวัดสุพรรณบุรี 6 ตำบล มุ่งขับเคลื่อนงานรณรงค์ออกพรรษาลาเหล้า จัดเวทีฉลองชัย ชื่นชม เชิดชูคนบวชใจงดเหล้าครบพรรษา ประจำปี 2564 ทั้ง 3 ระดับ คนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก หัวใจเพชร ชูนวัตกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดเหล้า มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต ประหยัดเงินจากค่าเหล้ากว่า 6 แสนบาท หวังนำโครงการคนดีศรีสุพรรณ ร่วมขับเคลื่อนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข็มแข็ง สังคมเป็นสุข

เมื่อวันที่ 30  เมษายน 2565  นายณัฐภัทร  สุวรรณประทีป  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานพิธี มอบประกาศเชิดชูเกียรติคนบวชใจงดเหล้าครบพรรษา ภายใต้แนวคิด “ออกพรรษาลาเหล้า ปี  2564” ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีสติพร้อมสู้ทุกวิกฤต ฉลองชัยคนหัวใจหิน ชื่นชมคนหัวใจเหล็ก เชิดชูคนหัวใจเพชร โดยการดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนคนสู้เหล้า จำนวน 6 ตำบล 5 อำเภอ ได้แก่ ตำบลดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก ตำบลไร่รถ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง มีผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา จำนวน 231 คน เป็นคนดื่มที่เข้าร่วมโครงการอยู่ครบพรรษา เป็นคนหัวใจหิน จำนวน 168 คน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 648,420.00  บาท เป็นคนหัวใจเหล็กที่เลิกเหล้าต่อเนื่องตั้งแต่ 1-3 ปี จำนวน 50 คน และ เป็นคนหัวใจเพชรที่เลิกดื่มเหล้าตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป จำนวน 23 คน

นายณัฐภัทร  สุวรรณประทีป  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี   กล่าวว่า  การงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นการนำความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมมาต่อยอดการทำงานโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พัฒนาในระดับนโยบาย และใช้กลไกของรัฐทุกหน่วยงานให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาจึงกลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีการรณรงค์จากหลายหน่วยงานเพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า ทั้งนี้แนวทางสำคัญคือการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า รณรงค์เปลี่ยนแปลงค่านิยมไม่เลี้ยงเหล้า ในเทศกาลงานบุญประเพณี ให้เกิดการชวน ช่วย เชียร์ งดเหล้าเข้าพรรษาและงดตลอดชีวิต เพื่อมุ่งหวังลดจำนวนนักดื่มหน้าเก่าและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

            สำหรับ “ในช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้ มีข้อดีมากมาย จึงขอสนับสนุนให้ใช้เป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ดูแลครอบครัว และเศรษฐกิจในครอบครัว และอยากขอเชิญชวนให้ทำต่อไป ไม่ใช่เฉพาะช่วงเข้าพรรษา แต่อยากเชิญชวนงดเหล้าตลอดชีวิต มาร่วมสร้างรอยยิ้มให้คนรอบข้าง และมาสร้างความสุขให้สังคม” นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป กล่าว

ในโอกาสนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีได้ดำริถึงเรื่องการรื้อฟื้นโครงการคนดีศรีสุพรรณ ซึ่ง นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21  ได้ริเริ่มไว้ เพื่อพัฒนาคนสุพรรณบุรีสนองนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โครงการคนดีศรีสุพรรณ”  มีคุณลักษณะ 11 ประการ โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 5 ปฏิบัติตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม หรือหลักธรรมของศาสนาอื่นที่เด็ก และเยาวชนนับถือ เพื่อสร้างพื้นฐานให้คนสุพรรณบุรีเป็นคนดีของสังคม

ด้าน นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก  ให้ข้อมูลว่า เวทีเกียรติยศ “เชิดชูเกียรติคนบวชใจงดเหล้าครบพรรษา”ประจำปี 2564 เป็นการ ฉลองชัยคนหัวใจหิน ชื่นชมคนหัวใจเหล็ก เชิดชูคนหัวใจเพชร ที่สามารถเป็นแบบอย่างที่เลิกเหล้าตลอดชีวิต” ที่มีแรงบันดาลใจสามารถลด ละ เลิกเหล้า ปัจจัยที่ทำให้เลิกดื่มได้ คือ 1. ต้องตั้งมั่นที่จะเลิก  2.ตั้งใจทำเพื่อครอบครัว 3.ต้องเริ่มจากตนเองก่อน

จังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นการต่อยอดการรณรงค์ โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง เป็นนักสื่อสารและนักจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ตระหนักในชีวิต ครอบครัว ส่งเสริมให้กำลังใจให้งดเหล้าแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้คนที่งดเหล้าได้ 3  เดือน มีความตั้งใจงดต่อเนื่องและอาจนำไปสู่การเลิกดื่มตลอดชีวิต  อย่างไรก็ดีภาคตะวันตกใน 8 จังหวัดปี 2564 มีการขับเคลื่อนชุมชนคนสู้เหล้าจำนวน 69 ชุมชน มีผู้ที่ดื่มเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา จำนวน 1,279  คน สามารถประหยัดเงินได้  2,821,690.00 บาท คนหัวใจเหล็ก จำนวน 422 คน คนหัวใจเพชร จำนวน 789 คน และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนวน  115 ร้าน

ในขณะที่นายภัทรพงษ์  กิตติวิริยะพันธุ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า  ที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมและภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งมีศักยภาพสามารถดำเนินงานการขับเคลื่อนเชื่อมร้อยการทำงาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของแต่ละชุมชนพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนบูรณการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 1)การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ และลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 2)การพัฒนากลไกการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดปัจจัยเสี่ยง 3)การปรับเปลี่ยนค่านิยมในงานเทศกาล/งานบุญประเพณี/วันสำคัญทางศาสนา 4) การลดอันตรายจากการดื่มและควบคุมเข้าถึงด้านเศรษฐศาสตร์และกายภาพด้านแอลกอฮอล์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพเด็กเยาวชน  ที่สำคัญงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นงานที่เห็นผลชัดเจนที่สุด และแนวคิดว่าถ้าทำให้การเลี้ยงเหล้าในงานบวช งานศพและงานบุญ-ประเพณีต่างๆ ลดลงได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะลดตามไปด้วย  โดยจุดแตกหักคือระดับหมู่บ้านที่ต้องมีกติกาและมาตรการของตนเอง โดยจัดเวทีประชาคมงานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ขยายไปงานบุญประเพณีปลอดเหล้า และรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา ซึ่งแม้หลายคนจะเริ่มจาก ลด ละ ได้ก่อนก็ถือเป็นเรื่องดี พอทำไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้ช่วยเหลือเจ้าภาพให้ลดค่าใช้จ่ายแล้ว ปัญหาเรื่องความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับก็ลดลงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน