ป.ป.ช.สุพรรณบุรี แถลงผลการดำเนินงานระจำปี 2566 ครั้งที่ 1 เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนในการเฝ้าระวังและแจ้งข้อมูล ภายใต้แนวคิด ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยไม่โกง

วันนี้(3 มี.ค.66) เวลา 09.30  ที่ห้องประชุม อ.เมืองสุพรรณบุรี ภาคเครือข่ายสื่อสารมวลชน สมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ร่วมรับฟังการแถลงผลการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี โดย นายนิติศักดิ์ วงษ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  ในฐานะโฆษกการแถลงผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริต โดยมีหน้าที่และอำนาจการตรวจสอบเรื่องกล่าวหาร้องเรียน การไต่สวนและวินิจฉัยคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (1 ตุลาคม -1 มีนาคม 2566) เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณียักยอกเงินประกันสัญญาจ้างก่อสร้างและยักยอกเงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย และกรณีเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับจ้างโครงการจ้างเหมาซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง และโครงการปรับระดับพื้นที่คอนกรีตฝังท่อระบายน้ำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง /กรณีกลั่นแกล้งโดยออกคำสั่งไล่พนักงานจ้างตำแหน่งคนงานทั่วไป สังกัด อบต.แห่งหนึ่ง จากการเป็นพนักงานจ้าง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของจังหวัด  ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด

ด้านนาย อุเท่ห์ กอวงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ได้กล่าวถึงผลการตรวจสอบทรัพย์สิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 127 แห่ง(อบจ.1แห่ง/เทศบาลเมือง 2 แห่ง  เทศบาลตำบล 44 แห่ง และ อบต.80 แห่ง)/ผลการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริต จัดการประชุมเชิงการปฏิบัติการชมรม STRONG – จิตพอเพียง เพื่อจัดตั้งชมรม STRONG – จิตพอเพียง ระดับอำเภอ ขณะนี้ได้ทั้งสิ้น 9 อำเภอ มีผู้เข้ากิจกรรม 109 คน และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพชมรมเยาวชน STRONG – จิตพอเพียง จากโรงเรียนต่างในจังหวัด จำนวน 146 คน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการแก้ปัญหาการทุจริตในพื้นที่ ในรูปแบบการลงพื้นที่สุ่มตรวจการดำเนินโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การดำเนินโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เขต -3 /การดำเนินการก่อสร้างต่างๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการและเบี้ยผู้ป่วยเอดส์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส่ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ซึ่ง ยังไม่ผ่านเกณฑ์ 40 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ขอฝาก ภาคีเครือข่าย และประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสหากเห็นความไม่โปร่งใสแต่ขอให้เป็นข้อมูลจริงมิใช่การกลั่นแกล้ง ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยไม่โกง”