สอบ.ลงนาม MOU อปท.พื้นที่ จ.ประจวบฯ สนับสนุน-สร้างความเข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มิ.ย.2566 ที่ห้องสิงขร ชั้น 2 โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กลไกขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่าง หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบต. – เทศบาล )ในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ โดยมี น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค(สอบ.)  กล่าวรายงาน และมี น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค คณะทนายความประจำหน่วยงานประจำจังหวัดฯ (สอบ.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม โดยมี นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค จ.ประจวบฯ นายเกตุ พราหมณี นายกสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ประจวบฯ ผู้บริหารและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(เทศบาล-อบต.) ผู้แทนท้องถิ่นจังหวัด ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 8 ด้านประจำสภาผู้บริโภคจังหวัดฯ ภาคีเครือข่ายองค์กรสมาชิก สอบ.ทั้ง 8 อำเภอ คณะทนายความ และสื่อมวลชน เข้าร่วม

น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยฯ สอบ.ประจวบฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น จัดทำนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สะท้อนหลักการสำคัญที่ว่า ผู้บริโภคมีส่วนร่วมจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองตนเอง รวมทั้งเป็นตัวแทนในการให้ความคิดเห็นที่เป็นอิสระ รักษาผลประโยชน์ของทุกคน เพราะทุกคนคือผู้บริโภค ปัจจุบันพบว่าการที่จะดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานจังหวัดฯ จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้ง ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 8 ด้าน องค์กรสมาชิกทั้ง 13 องค์กรในพื้นรวมกว่า 140 คน ที่จะร่วมคิด ร่วมทำ เรียนรู้ความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะร่วมดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการว่าจะทำอย่างไร ที่จะสร้างความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดขึ้น ให้สามารถประสานงาน ทั้งด้านข้อมูล งานวิชาการ ด้านกฎหมาย และด้านอื่นๆ เพื่อตอบสนองการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเวลาที่รวดเร็ว ทันท่วงที รอบด้านและมีมาตรฐาน หน่วยงานประจังหวัดประจวบฯ เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งจะเป็นกลไกความร่วมมือรูปแบบหนึ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย การจัดทำบันทึกข้อตกลงวันนี้ประกอบด้วย 21 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค 2.สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดฯ 3.เทศบาลตำบลหนองพลับ 4.อบต.ทับใต้ 5.เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ 6.อบต.วังก์พง 7. เทศบาลตำบลไรใหม่ 8.อบต.สามร้อยยอด 9.เทศบาลตำบลกุยบุรี 10.อบต.กุยเหนือ 11. เทศบาลเมืองประจวบฯ 12.อบต.บ่อนอก 13.เทศบาลตำบลคลองวาฬ 14.อบต.คลองวาฬ 15.เทศบาลตำบลทับสะแก 16.อบต.อ่างทอง 17.เทศบาลตำบลร่อนทอง 18.อบต.ร่อนทอง  19.อบต.ทองมงคล 20.เทศบาลตำบลบางสะพานน้อย และ 21.อบต.ช้างแรก

น.ส.ธนพร กล่าวต่อว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1.เพื่อสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  2.การพัฒนา เสนอแนะ นโยบาย มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 3.การสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคและการรวมกลุ่มของผู้บริโภคในจังหวัด 4.การสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภคให้ครอบคลุม 5.พัฒนากลไกสภาองค์กรของผู้บริโภค การรับและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนแบบฐานข้อมูล อย่างเป็นระบบ 6.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดประจวบฯ

นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า จากคำกล่าวรายงาน จะเห็นได้ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 และตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่จังหวัดประจวบฯ การจัดงานในวันนี้ นับว่า เป็นสิ่งที่ดีและสำคัญยิ่งกับการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 3/2565 และ 4/2565  เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลและประจำองค์การบริหารส่วนตำบล อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคทุกคน ตามแนวทางความร่วมมือ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ในการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้ 1. ให้ความร่วมมือการให้ข้อมูลข่าวสาร ตามอำนาจหน้าที่และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  2. สนับสนุนและร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ทราบและรู้เท่าทันประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภค และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนทราบและเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาท 3. สนับสนุนและร่วมมือทางด้านวิชาการ เพื่อพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 4. ความร่วมมือเพื่อสร้างระบบเตือนภัย อาหารไม่ปลอดภัย โดยท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น 5. ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร

จากนั้น ได้มีเวทีเสวนา หัวข้อ ความท้าทายการคุ้มครองผู้บริโภคยุคใหม่กับความร่วมมือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้เข้าร่วมมี น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค มี น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดประจวบฯ และนายทวีศักดิ์ เบญจธิวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาจการ สคบ.ประจวบฯ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาผู้บริโภค จ.ประจวบฯ ////////////