รองผู้ว่าฯประจวบนำทุกภาคส่วนถวายเครื่องราชสักการะ ร.4 เนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ทรงคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาล่วงหน้าอย่างถูกต้อง ณ บ้านหว้ากอ

เมื่อเวลา 09.19 น. วันที่ 18 ส.ค.2566 นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายเครื่องราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี นายบุญรัตน์ จูอี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดประจวบฯ นายปฏิวัติ ธนากรรัฐ อัยการจังหวัด พ.อ.พีรฉัตร พานทอง รอง ผอ.รักษาความมั่นคงภายในจังหวัด นายสินาทร โอ่เอี่ยม ปลัดจังหวัด น.ส.จีรประภา สาระประจวบ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดจังหวัด ชมรมแม่บ้านมหาดไทย และประชาชน เข้าร่วม ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา ภายหลังที่แต่ทุกภาคส่วนได้วางพุ่มทอง-พุ่มเงินถวายเครื่องราชสักการะตามลำดับเสร็จ ได้มีการขับเสภาบทอาเศียรวาทราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า โดยคณะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบทุกสังกัด ที่ได้มาร่วมเข้าค่ายทำกิจกรรมเนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่อุทยานฯหว้ากอ จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานในพิธี ถวายเครื่องราชสักการะ และจุดเครื่องทองน้อย สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ และกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใจความว่า “ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้เสด็จมาตั้งค่ายที่ประทับพร้อมด้วยข้าราชบริพาร และชาวต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ทรงคำนวณล่วงหน้าด้วยพระองค์เองอย่างถูกต้อง และวันเวลาดังกล่าว ก็คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 เวลา 4 โมงเช้า กับ 16 นาที

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์สุริยุปราคาได้ปรากฏขึ้นตรงตามที่ได้ทรงคำนวณไว้ทุกประการ นับเป็นที่มหัศจรรย์และประจักษ์ชัดในพระปรีชาญาณ ในทางดาราศาสตร์และการคำนวณชั้นสูง เป็นที่ยอมรับและชื่นชมในหมู่คณะทูตานุทูต นักดาราศาสตร์ทั้งหลายที่ได้มาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ที่สำคัญในครั้งนั้น และด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศและเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และให้ถือเอาวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

และวันนี้ในทุกๆปีที่ผ่านมา หน่วยงานราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่า สถาบันการศึกษา ต่างชื่นชมยินดีพร้อมใจกันจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในโอกาสที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะในวันนี้ ขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย ได้ร่วมกันน้อมจิตรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น้อมรำลึกถึงพระปรีชาญาณในการคำนวณและพยากรณ์สุริยุปราคา ณ บ้านหว้ากอ อย่างถูกต้อง แม่นยำ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อสยามประเทศในกาลครั้งนั้น ขอได้ร่วมกันตั้งจิตปณิธานแน่วแน่ ที่จะร่วมกันบูชาและเทิดพระเกียรติคุณ ให้ปรากฏชั่วกาลนาน

ต่อจากนั้น นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี 2566 โดยมี นางวนิดา พิมอุบล รองผู้อำนวยการฯ รักษาการ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ กล่าวรายงาน ดังนี้ “หว้ากอ เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ซึ่งทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และถวายสมัญญานาม พระองค์ว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ปัจจุบันอุทยานฯ เป็นสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหน้าที่ ในการจัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และสร้างระบบคิด ปลูกจิตวิทยาศาสตร์ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ในระบบ และนอกระบบโรงเรียน และประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในระบบ และนอกระบบโรงเรียน และประชาชน จำนวน ไม่น้อยกว่า 15,000 คน กำหนดระยะเวลาจัดงาน 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตลอดการจัดงาน การจัดงานได้รับการสนับสนุน งบประมาณจาก กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ งบประมาณจาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด และงบประมาณ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดง แสง สี เสียง ในช่วงกลางคืน 3 วัน การสัมมนาทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ กิจกรรมแรลลี่วิชาการ นิทรรศการจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ นิทรรศการจากหน่วยงานเครือข่ายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า และด้านสิ่งแวดล้อม และการประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ รวมทั้งหมด 118 ทีม และได้รับเกียรติจากวิทยากร และคณะกรรมการตัดสิน ผู้ที่มีความรู้ และประสบกราณ์ จากหน่วยงานในระดับประเทศ” /////////