เริ่มแล้ว “มหกรรมสีสันพันธุ์กล้วย สุพรรณบุรี ครั้งที่ 1”

ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวขณะเป็นประธานเปิดงานมหกรรมสีสันพันธุ์กล้วย สุพรรณบุรี ครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ – วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ว่า

การจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพระครูโสภณวีรานุวัตร,ผศ.ดร. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรี ศรีสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เล็งเห็นความสำคัญของกล้วย ซึ่งมีคุณประโยชน์อนันต์ สร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงพัฒนาสถานที่รกร้าง ที่เป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการ โคก หนอง นา ตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วย และต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สามารถเพิ่มรายได์ ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พระครูจึงมีดำริ ให้คณะศิษยานุศิษย์ จัดการประกวดกล้วย ทั้งเรื่องผลผลิต การประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รับความสุข และความรู้ควบคู่กัน  หวังว่าพี่น้องประชาชนประชาชนจะได้ความรู้ ความเข้าใจในการปลูก ดูแลรักษา การนำไปใช้ประโยชน์ และได้เชื่อมโยงการตลาดให้ทุกคนปลูกแล้วมีที่ขาย สามารถ แปรรูป และต่อยอดเชิงธุรกิจได้

ด้านนายหิรัญ สะอิ้งทอง ประธานศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี การจัดงานในครั้งนี้เพื่ออนุรักษ์พันธุ์กล้วย และให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของกล้วย ตลอดจนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประกวดเครือกล้วยงาม/เครือกล้วยยักษ์, การประกวดอาหารคาวหวานจากกล้วย, การประกวดเครื่องจักสาน/ผ้าทอพื้นถิ่น, การเสวนากล้วยไทยกับวิถีชุมชน, การแสดงสัตว์น้ำสวยงาม/สัตว์น้ำพื้นถิ่น เช่น ปลาม้า ปลาสลิด กุ้งก้ามกราม / การแสดงศิลปวัฒนธรรม จากกลุ่มดนตรีพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี /การแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP, การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Fisherman Shop / ศึกษาพันธุ์กล้วย 222 ชนิด, แจกพันธุ์กล้วยฟรี  เที่ยว ชิม ช็อป สินค้ามากมาย

ทั้งนี้ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี มีการรวบรวมพันธุ์กล้วยโบราณ กล้วยแปลก กล้วยหายาก กล้วยต่างประเทศ จากแหล่งต่างๆ ปัจจุบันมีพันธุ์กล้วย 222 ชนิด เปิดบริการให้ความรู้แก่คณะผู้มาเยือน ศึกษาดูงาน การแปรรูปกล้วย เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากหน่อกล้วย จาน ชาม จากกาบกล้วย ผงกล้วยดิบรักษาโรค ฝึกการทำสบู่ใยกล้วย น้ำชาปลีกล้วย และฝึกการขยายพันธุ์กล้วย