เพิ่มพูน เปิดงานประชุม อวท.ระดับชาติ ครั้งที่32 พัฒนาทักษะวิชาชีพนักศึกษาอาชีวะให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ที่สุพรรณบุรี

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) การแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทักษะพื้นฐาน ระดับชาติ ครั้งที่ 32 ประจำปีการศึกษา 2566 ระหว่างวันที่ 5 – 9 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีนายยศพล  เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานการจัดงาน นายณัฐภัทร  สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  กล่าวต้อนรับ  นายสมจิตต์  ศรีสมพันธุ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ประธานกรรมการบริหาร อวท. ระดับชาติ ประธานองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา คณะกรรมการการดำเนินงาน คณะครู และนักเรียน นักศึกษาองค์การนักวิชาชีพ  เข้าร่วมงาน ณ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์กรมาตรฐานดีเด่น และสมาชิกดีเด่นโครงการภายใต้การนิเทศที่ได้รับรางวัลซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศ เป็นชื่อเสียงของสมาชิกและสถานศึกษา ขอชื่นชมกับสมาชิกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการ  เข้าร่วมแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาได้ สามารถทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาทักษะอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  โดยการประชุมฯนี้ถือเป็นโครงการที่ดีที่เปิดโอกาสให้สมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ ได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ ให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการเป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

 

ด้านนายยศพล  เวณุโกเศศ  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) การแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทักษะพื้นฐาน ระดับชาติ ครั้งที่ 32 มีองค์การนักวิชาชีพฯ จากสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และเอกชนจากทั่วประเทศ เข้าร่วม ทั้งสิ้น 378 แห่ง และมีผู้ร่วมการแข่งขันทักษะฯรวมกว่า 5,000 คน โดยการแข่งขันทักษะวิชาชีพ การแข่งขันทักษะพื้นฐาน และหลักสูตรระยะสั้น แบ่งออกเป็น ประเภทช่างอุตสาหกรรม ประเภทเทคนิคพื้นฐาน ประเภทพาณิชยกรรม/ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ ประเภทวิชาคหกรรม ประเภทวิชาศิลปกรรม ประเภทอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และประเภทวิชาชีพระยะสั้น การแข่งขันทักษะพื้นฐาน เช่น การประกวดร้องเพลง ประกวดวงดนตรี การประกวดทักษะด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จีน ทักษะศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันจัดขึ้นทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมทั้งสิ้น 105 ทักษะ

สำหรับการประชุมองค์กรวิชาชีพฯระดับชาติและการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการอาชีวศึกษาสู่โลกสากล มีการพัฒนาความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ วิชาการ และยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ผ่านกิจกรรมการพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษา “เรียนดี มีความสุข” และถือเป็นกิจกรรมที่รวมพลังชาวอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นการสร้างสายใยเครือข่าย พี่ เพื่อน น้องชาวอาชีวศึกษา ส่งเสริมให้สมาชิกในองค์การ ได้แสดงออกถึงการเป็นผู้ที่มีศักยภาพ ถึงความเป็นผู้นำ ความสามารถ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น พร้อมที่จะนำพาเพื่อนสมาชิกในองค์การ ตลอดจนชุมชน สังคมและประเทศชาติ ให้พัฒนาต่อไป