รองนายกรัฐมนตรี ยก“เขื่อนกระเสียว” เป็นโมเดลทางรอดช่วงแล้ง หลังคุมเข้มมาตรการจัดสรรน้ำ พ้นวิกฤติแล้งแม้ปริมาณน้ำคงเหลือ 35%

รองนายกรัฐมนตรี  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนกระเสียว หลังปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือ 35% ยืนยันไม่มีน้ำเพียงพอหนุนทำนาปรังกว่า 8 หมื่นไร่   ขอหน่วยเกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือพร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า แต่มั่นใจการจัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภคไม่กระทบ เหตุกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้มแข็ง ยกเป็นโมเดลทางรอดช่วงแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 ที่อ่างเก็บน้ำกระเสียว ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี. ในวันนี้(17 ต.ค.61) เพื่อพบเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำที่บริเวณสันเขื่อนกระเสียว พร้อมกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนกระเสียว หลังปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือ 35%   ซึ่งมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำนาปรังที่มีจำนวนกว่า 8 หมื่นไร่    แต่ขอให้เกษตรกรมั่นใจการจัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภคไม่กระทบแน่นอน  เพราะกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เขื่อนกระเสียวมีความเข้มแข็ง  ซึ่งเตรียมยกให้เป็นโมเดลทางรอดช่วงแล้ง   จึงถือโอกาสเน้นย้ำทุกหน่วยงาน เตรียมมาตรการลดผลกระทบความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดไว้ล่วงหน้า โดยการทำงานเชิงรุกในการคาดการณ์สภาพอากาศ วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน/เกษตรกร และขับเคลื่อนแผนอย่างบูรณาการ โดยเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องขอชื่นชมคณะกรรมการจัดการชลประทานโครงการ หรือ คณะกรรมการ JMC ของเขื่อนกระเสียว มีความเข้มแข็งมากโดยเห็นได้ชัดเจนในปี 2558/59 ซึ่งเขื่อนกระเสียวมีน้ำน้อยมาก แต่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี โดยขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำในการงดทำการเกษตรทั้งพื้นที่ ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำรักษาระบบนิเวศ ผ่านวิกฤตแล้งไปได้ นับเป็นแบบอย่างการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่นำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ที่อาจจะต้องประสบปัญหาในช่วงฤดูแล้งเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นอกจากการบริหารจัดการน้ำ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อจัดสรรน้ำที่มีอยู่ตามความเร่งด่วนตามลำดับ ได้แก่ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร/อุตสาหกรรม และ อื่นๆ แล้ว ต้องหาวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การผันน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล การจัดรถขนส่งน้ำ และ การปฏิบัติการฝนหลวง

ขณะเดียวกันในระหว่างที่เกิดวิกฤตแล้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการทำการเกษตรที่ไม่ได้ผล และมีทางเลือกในการทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย หรือประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ทดแทนรายได้ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยที่จะให้การช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจจะพิจารณานำแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้งปี 2558/59 มาดำเนินการปรับใช้ด้วย