เตรียมพบ“การประชุมทางวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ครั้งที่ 2” วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม

นางสาวอินดา  แตงอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 เปิดเผยว่าสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 เตรียมจัดการประชุมทางวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ครั้งที่ 2  ในวันเสาร์ที่ 16  มีนาคม  2562

ณ อาคารหอประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม   สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ซึ่งเป็นการนำงานด้านวิชาการของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ให้มีการพัฒนาความแข็งแกร่งในงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดแสดงการเรียนการสอนในรายวิชาโครงการทางวิชาชีพในทุกสาขาวิชาที่คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นในสาขาดังกล่าวในอันดับ 1 – 3 และสถานศึกษาที่เปิดสอนในสาขาเดียวกันให้นำผลงานดีเด่นมาอย่างละ 3 ทีม และจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 ทีม และนำผลงานทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกไปร่วมประกวดในการประชุมทางวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 เมษายน 2562 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งต่อไป

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2561 มีนักศึกษาในระดับปริญญาตรีจะจบการศึกษาจำนวน 176 คน โดยมีสาขาวิชาดังนี้

  1. สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี
  2. สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี
  3. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี
  4. สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
  5. สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  6. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  7. สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  8. สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  9. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  10. สาขาวิชาการโรงแรม (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  11. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี
  12. สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี

ซึ่ง การจัดประชุมทางวิชาการในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับที่รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนโดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศโดยมุ่งเน้นที่จะมีการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการเรียนในรายวิชาโครงการทางวิชาชีพจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ในทุกรายวิชามาบูรณาการทำให้นักศึกษาเกิดการคิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรมงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพทั้งยังสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์กรและสังคมต่อไปได้