สุพรรณบุรี ขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย แบบบูรณาการ มีใจ มีความรู้ มีการปฏิบัติ” จะช่วยขจัดปัญหาสุนัขจร อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายนพฤทธิ์  ศิริโกศล  ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน  พร้อมกล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 8 ด้านการพัฒนาวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย   จากโรคพิษสุนัขบ้า  ตามพระปณิธาน ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

โดยเป็นการบูรณาการของ  3  โครงการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ประกอบด้วย 1.) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์  2.) โครงการศึกษาวิจัยการใช้พื้นที่วัดเป็นต้นแบบศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด  3.)  โครงการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น สัตว์ปลอดโรค  คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สู่โรงเรียนและชุมชน

วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการฯ ตลอดจนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทุกภาคส่วนทั้งสุขภาพสัตว์  สุขภาพคน  และการปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสุนัขในชุมชน ที่สำคัญอยากให้มี 1 ท้องถิ่น 1 ศูนย์พักพิง(สุนัขจรจัด) เพราะหากเราช่วยกันเชื่อว่าปัญหาสุนัขจรจัดจะหมดไปได้ ภายใต้แนวคิด “ มีใจ มีความรู้ มีการปฏิบัติ” จะช่วยให้ปัญหาสุนัขจรจัดของประเทศไทย ให้หมดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน

ด้าน ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์  เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในการจัดอบคมครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยายทางวิชาการ  การฝึกใช้ application เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการระดมสมอง  โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรม 4 กลุ่ม  ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์  ครูผู้สอนด้านสุขศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  และผู้แทนชุมชน  รวมทั้งสิ้น 100  คน