อบจ.สุพรรณบุรี เสริมสร้างพัฒนาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริและความยั่งยืนของสังคมไทย “๑ ไร่แก้จน”

วันนี้(5 ก.ย.62)  ที่บ้านของนายบุญมาก นิลรุจี  บ้านเลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๖ ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี  นายบุญชู  จันทร์สุวรรณ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างพัฒนาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริและความยั่งยืน ของสังคมไทย “๑ไร่แก้จน” ในเขตอำเภอหนองหญ้าไซ

พร้อมกล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอหนองหญ้าไซ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เล็งเห็นและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในเขตอำเภอหนองหญ้าไซเป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เป็นประจำทุกปี ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนการขาดน้ำเพื่ออุปโภค –บริโภคในครัวเรือน จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการจัดหาแหล่งน้ำและส่งเสริมการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อให้สามารถพี่พาตนเองได้ในที่สุด

ดังนั้น ขอให้เกษตรกรทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพัฒนาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริและความยังยื่นของสังคมไทย (๑ ไร่แกจน) มีความตั้งใจที่จะเก็บความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการจากการอบรมในวันนี้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ จนประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ให้เกิดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดความมั่นคงของครอบครอบอย่างยั่งยืน

 

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธีรพล โชคนำชัย  นายอำเภอหนองหญ้าไซ กล่าวเพิ่มเติมว่า การน้อมนำหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่ง เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชทานไว้ให้แก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า ๓๐ ปี เพื่อให้เป็นแนวคิดในการพัฒนาโดยการตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นไทยการเดินทางสายกลาง คำนึงถึงความพอเพียง ความมีเหตุผล ตลอดจน การสร้างภูมิคุ้มกันโดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้โครงการดังกล่าวจำนวน 3๘ ราย และในปัจจุบันได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน ๑๐ ราย โดยในวันนี้ มีการมอบพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์แก่เกษตรกรจำนวน ๑๐ ราย นำไปขยายผลการดำเนินการเพื่อเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่คนในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป