สุพรรณบุรี ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มOTOP ทรัพยากรพื้นถิ่นปลาน้ำจืดลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรม

สุพรรณบุรี ร่วมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่า OTOP  ทรัพยากรพื้นถิ่นปลาน้ำจืด ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แบรนด์“ปลาดุกอุ๊ย”




วันนี้ (4 ธ.ค. 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมรับฟังการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “การสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากทรัพยากรพื้นถิ่นปลาน้ำจืดของจังหวัดสุพรรณบุรี” โดย ผศ.ดร.สายชล ชุดเจือจีน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มทร. 8 แห่ง เรื่อง การพัฒนาและสนับสนุนชุดโครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

ซึ่งทำการศึกษาวงจรผลิตเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่ บ้านดอนตะเคียน ตำบลยุ้งทะลาย อำเภออู่ทอง ทั้งระบบ ตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์ม การเลี้ยง และการจำหน่าย การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการวิเคราะห์ต้นทุนโดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม การยกระดับการแปรรูป ภายใต้แบรนด์“ปลาดุกอุ๊ย” รวมไปถึงการคิดสูตรปลาดุกแปรรูปที่มีโซเดียมต่ำ

เพื่อช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและผู้แปรรูปในชุมชน ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิตสูง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในงานวิจัย

       ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และทีมวิจัย จะทำการส่งมอบผลงานวิจัย นวัตกรรม เครื่องหมายการค้า และแบรนด์ ให้กับกลุ่มเกษตรกร ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี