พัฒนาชุมชนลุยสร้างคนแม่แจ่มเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 22 มกราคม 2563 นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ในการมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดลและให้แนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมีนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นายวิทยา ชุมภูคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ นางเสาวลักษณ์ ไชยเมืองพัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม ทีมพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จำนวน 70 คน และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต(Household lab model for quality of life : HLM) จำนวน 30 คน รวม 100 คน เข้าร่วม ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกภูมิภาคในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 24,842 ครัวเรือน โดย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดลกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 1 อำเภอแม่แจ่ม ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.) และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดการฝึกอบรมทั้ง 4 คืน 5 วันนี้ มุ่งส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายทั้ง 100 คน ได้เรียนรู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดลด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้และปฏิบัติได้จริง ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบโคก หนอง นา โมเดลตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ทั้งในระดับตำบล (Community Lab Model for quality of life : CLM) และระดับครัวเรือน(Household Lab Model for quality of life : HLM) โดยเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่าการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตและหนทางนำพาพ้นวิกฤต ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนรับมือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสามารถปรับประยุกต์เป็นหลักในการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงในยามปกติต่อไป

  

โดยหลักสูตรของการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล นี้ ดำเนินการในรูปแบบการบรรยาย การแบ่งกลุ่มอภิปราย การถอดบทเรียนผ่านสื่อ ผสานกับการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง“Learning by Doing” ผ่านฐานการเรียนรู้ 7 ฐาน ได้แก่ ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ,ฐานคนรักษ์แม่ธรณีเรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากแนวคิดเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ,ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้ศาสตร์การจัดการและอนุรักษ์น้ำ อาทิ โครงการฝนหลวง เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสียโดยกลักธรรมชาติ ,ฐานคนรักษ์แม่โพสพ เรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ดังคำที่ว่าเงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ,ฐานคนรักษ์สุขภาพเรียนรู้วิธีการมีสุขภาพที่ดีแบบวิถีพอเพียง , ฐานคนมีน้ำยา เรียนรู้วิธีการทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และฐานคนเอาถ่าน เรียนรู้การทำถ่านธรรมชาติและประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

ทั้งนี้ หลังจากผ่านการฝึกอบรมทั้งนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องนำความรู้  ความเข้าใจลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ปรับประยุกต์อย่างสอดคล้องกับภูมิสังคมตามเป้าประสงค์ สามารถเป็นครูพาทำขยายผลการเรียนรู้หมุนเวียนไปร่วมเอามื้อสามัคคีร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน จำนวน 1,396 แปลง และ ระดับตำบล จำนวน 7 แปลง ของอำเภอแม่แจ่ม ต่อไป

ส่วน นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความสุข มีความมั่นคง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนพัฒนา โดยตลอดมาเห็นว่ากรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างเป็นรูปธรรมผ่านหลากหลากภารกิจ หลากหลายโครงการ ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลถือได้ว่าเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งใหญ่ด้วยการประยุกต์ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิดทฤษฎีอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า40 ทฤษฎี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ในการจัดการพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ตามภูมิสังคมภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำผลผลิตมาสู่การต่อยอดแปรรูปในขั้นก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เป็นการรับมือแก้ไขปัญหาในหลากหลายมิติ

แม้โครงการจะได้ชื่อว่าพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแต่โดยนัยที่แท้จริงคือการพัฒนาคนพัฒนาชาติ ด้วยศาสตร์พระราชา ดังนั้น ทุกท่านที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้จึงมีภารกิจที่สำคัญในการเป็นแกนนำ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่ตนเองให้เป็นที่ประจักษ์สมบูรณ์ ในการทำงานต้องเป็นเพื่อนคู่คิด หมั่นศึกษาเรียนรู้ รู้ในองค์ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรู้รักสามัคคีด้วย

นายประชา เตรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าแม้สถานการณ์ของประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การสาธารณสุข การคมนาคม อย่างมาก แต่เชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลโดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยทุกภาคีเครือข่าย จะสร้างโอกาสผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ นำสู่การปฏิวัติแนวคิด จัดสรรชีวิตให้เกิดความสมดุล การจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างแหล่งอาหารภายในพื้นที่ของตนเองลดภาวการณ์ขาดแคลนความมั่นคงทางอาหาร การลงมือปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ตามหลักภูมิสังคมอย่างเป็นระบบมีการบริหารจัดการดิน น้ำในพื้นที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้ง และในระยะยาวนั้นยังเป็นการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ตามหลักการต้องปลูกไม้ 5 ระดับ หรือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เรียกได้ว่าความร่วมไม้ร่วมมือของทุกท่านต่อแต่นี้ จึงเปี่ยมไปด้วยการสร้างสรรค์ประโยชน์และความสุขที่ถ่องแท้ได้อย่างยั่งยืน