อุบลราชธานี ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 รุ่นที่ 14

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 – 12.00 . ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายคมกริช ชินชนะพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตาม สนับสนุนการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดลกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดลรุ่นที่ 14 พร้อมพบปะและบรรยายต่อผู้เข้าฝึกอบรมในหัวข้อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติโดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1)เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีทักษะในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง จนสามารถปฏิบัติได้และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียง 2)เพื่อกำหนดแนวทาง/เป้าหมายในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของตนเอง 3)เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักถึงคามสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชนและประเทศไทย 4)เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของตัวเองได้

โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้บรรยายเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่ 1)การกำหนดเป้าหมายของชีวิตบนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง 2)ออกแบบพื้นที่ชีวิตการดำรงอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง 3)วิเคราะห์บริบทพื้นที่ รู้เรา รู้เขา รู้สถานการณ์ รู้ดินฟ้า 4)กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติสถานที่จริง นอกจากนั้น ยังได้มอบแนวทางในการดำเนินงานแก่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับครัวเรือนเป้าหมาย นอกจากนั้น ยังได้กล่าวพบปะผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ว่าหัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการ แก้เเล้งเก็บฝน เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ในจังหวัดของเรา คือ เกิดครัวเรือนต้นแบบ 3,960 ครัวเรือน เกิดแกนนำพัฒนา 4,858 คน เกิดการจ้างงาน  898 คน มีพื้นที่การทำโคก หนอง นา โมเดล” 9,329 ไร่ มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 190 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับสู่บ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 898 อัตรา สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่าเมื่ออบรมเสร็จขอให้ทุกท่านนำเอาความรู้ที่ได้ นำไปพัฒนาพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เเละเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ไม่ปิดกั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัว และที่สำคัญคือการทําโคก หนอง นา โมเดลถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนเป้าหมายเเละประเทศชาติในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยพัฒนาการจังหวัดฯ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นาโมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการะหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน.. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้ 1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยางอำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมูตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 12-16 ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 5 จุด ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564

สำหรับการฝึกอบรมตามโครงการฯ รุ่นที่ 14 ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) แห่งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯจากอำเภอน้ำขุ่น 73 คน และอำเภอน้ำยืน 27 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 100 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติและทีม SAVEUBON ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์สพจ.อุบลราชธานีภาพข่าว/รายงาน