จังหวัดประจวบฯจัดเวทีขับเคลื่อนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง กำหนด 6 พื้นที่ป่านำร่องป่าชุมชนต้นแบบศึกษาเรียนรู้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง จ.ประจวบฯ / รองประธานสภาป่าไม้ภาคพลเมือง ภาคกลางตะวันตก / กล่าวเปิดการประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ระดับจังหวัดประจวบฯ โดยมี นายชำนาญ สมบัตินิมิตร ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ (สจป.)ที่ 10 สาขาเพชรบุรี นายสมชาย นาคซื่อตรง ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ น.ส.อัฉราภรณ์ ได้ไซร้ ผู้ประสานงานโครงการป่าไม้ภาคพลเมือง ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ( RECOFTC ) นายวีระชัย อินทราพงษ์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดประจวบฯ เครือข่ายป่าไม้พลเมือง ภาคตะวันตก คณะกรรมการเครือข่ายป่าไม้พลเมือง จ.ประจวบฯ แกนนำ/ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ เข้าร่วม

นายวัชรินทร์ จันทร์เดช กล่าวว่า การขับเคลื่อนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองภาคกลางตะวันตก มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 4 ปี ได้สนับสนุนเครือข่ายระดับจังหวัด ให้ดำเนินกิจกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับการทำงานเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองระดับภาค ในรูปแบบของ“สภาป่าไม้ภาคพลเมืองภาคกลางตะวันตก” ในช่วงแรก คือ การรวบรวมสถานการณ์ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในภูมิภาคภาคกลาง และภาคตะวันตก เพื่อดำเนินการจัดทำแผนงานระดับจังหวัด และสร้างคนทำงานเชื่อมประสานเครือข่าย จัดเวทีพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาประสบการณ์ในการทำงานเครือข่ายแก่ผู้นำและผู้นำรุ่นใหม่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาชนในการจัดการตนเองด้านทรัพยากรป่าไม้

 

นายวัชรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า สภาป่าไม้ภาคพลเมืองภาคกลางตะวันตก ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการจัดทำแผนการจัดการป่าในเครือข่ายป่าชุมชน เพื่อรองรับการวางแผนป่าชุมชน ตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ในพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ 6 จังหวัดได้แก่ จ.อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์  จำนวน 15 พื้นที่ ซึ่งในปี 2565 เพื่อให้เกิดการยกระดับการพัฒนาเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองระดับจังหวัด ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับเครือข่ายป่าไม้ชุมชนระดับจังหวัด นำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ด้าน นายชำนาญ สมบัตินิมิตร ผอ.ส่วนจัดการป่าชุมชน สจป.ที่ 10 เพชรบุรี กล่าวว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 10 ซึ่งดูแลในพื้นที่ป่า ทั้ง จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบฯ ในอดีตมีพื้นที่ป่าชุมชน 77 ป่าชุมชน ก่อนที่ พรบ.ป่าชุมชน ปี 2562 ประกาศใช้ จึงมีสถานะโดยอัตโนมัติ มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นใหม่ 9 แห่ง ซึ่งการจะเป็นป่าชุมชนได้นั้น จะต้องมีการส่งแผนจัดการ และยื่นภายในเดือน ธันวาคม 2565 โดยต้องมีการผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการฯระดับจังหวัด  ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของ พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ต้องการให้ดำเนินงานโดยชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และดูแลโดยชุมชน ตามบริบทแต่ละพื้นที่ มีการบริหารจัดการวางแผนโดยชุมชน การจัดตั้งป่าชุมชน ต้องไม่ทับซ้อนกับพื้นที่อื่น

 ด้าน น.ส.อัฉราภรณ์ ได้ไซร้ ผู้แทนศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า หรือ RECOFTC กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องป่า เป็นสิ่งสำคัญ จึงได้เกิดการเชื่อมเครือข่ายกัน และมีการเสนอพื้นทีป่าชายเลน เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สนใจเรื่องเกี่ยวกับ คาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีการให้ความสำคัญกับการปลูกป่า ต้นไม้ ต่อไปจะเป็นการวางแผนยกระดับระดับ ต่อไป ที่ผ่านมา มีการประสานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ในเรื่องแนวทางในการยกระดับป่าชุมชน เป้าหมายของการทำงานป่าชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายนำร่อง 3 ป่า วางแผนเรื่องการพัฒนา ลงทะเบียนในระบบ 40 ป่า และเรื่องของเยาวชน

ทั้งนี้ รีคอฟ จะใช้เวทีขับเคลื่อนในครั้งนี้ เก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนวิธีการรวบรวมข้อมูล ให้ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนแต่ละพื้นที่ ดำเนินการแล้วส่งข้อมูลมาให้รีคอฟ โดยทางรีคอฟ จะดำเนินการเก็บรวบรวมและนำกลับมาให้ชุมชนทั้ง 40 ป่า  ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละพื้นที่ แต่น่าจะทำได้ เราจะดำเนินส่งข้อมูลเข้าระบบ CF-NET ในส่วนที่ขึ้นทะเบียนก่อน จะมีการเก็บข้อมูล พูดคุยขอข้อมูลจากตัวแทนป่าแต่ละที่ แผนการแรกเป็นแผนงานเฝ้าระวัง ในส่วนตัวข้อมูลป่า 40 แห่ง แจ้งความสนใจ แจ้งข้อมูลการติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอข้อมูลเอง

สำหรับป่านำร่อง 3 ป่า ได้กำหนดเลือกไว้ 6 พื้นที่ป่า มี 1.พื้นที่ป่าสามขุม ต.ชัยเกษม อ.บางสะพาน 2.พื้นที่ป่าเขาปุก ต.ทรายทอง อ.บาสะพานน้อย 3.พื้นที่ป่าใน อ.ทับสะแก ยังไม่กำหนดพื้นที่ซึ่งต้องกลับไปหารืออีกที 4.พื้นที่ป่าหินปิด ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย 5.พื้นที่ป่าชุมชนบ้านดงไม้งาม ต.ชัยเกษม อ.บางสะพาน 6.พื้นที่ป่าบ้านฝ่ายท่า ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน  ส่วนแผนการจัดการป่าชุมชน จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ เกิดจากชุมชน และรีคอฟจะช่วยในเรื่องกระบวนการ และสนับสนุนงบประมาณ และในส่วนที่มีมากกว่า 3 ป่า จะนำเรื่องนี้กลับไปวางแผนต่อไป และจะช่วยในเรื่องจะทำยังไงไม่ให้ชุมชนหมดสิทธิ ที่ผ่านการรับรองเป็นป่าชุมชน ตาม พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562////