ตร.ภูธรสุพรรณบุรี รุกโครงการชุมชนยั่งยืน แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ

ที่ อาคารเอนกประสงค์วัดประชุมชน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระลอย รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี นายธราธร แข็งขัน นอภ.เมืองสุพรรณบุรี พล.ต.ต.เกรียงไกร วุฒิพานิช ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี พ.ต.อ.ธัชชัย ทิพเนตร ผกก.สภ.เมืองสุพรรณบุรี พ.ต.ท.ตะวัน วัฒนรังสรรค์ รอง ผกก.ป.ฯนายวิรัช คำหอมกุล นายก ทต.บ้านโพธิ์ ร่วมพิธีเปิดโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2566

พ.ต.อ.ธัชชัย   ทิพเนตร  ผกก.สภ.เมืองสุพรรณบุรี ในนามของคณะทำงานโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี  ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมุ่งยึดแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง ในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านและชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยยึดแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นกรอบการแก้ไขปัญหายาเสพติดและลดปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การปรับระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมโดยการเสริมสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าถึงการบำบัดรักษาโดยการคัดกรองประเมินวินิจฉัย ที่มีประสิทธิภาพ กำหนดแผนการบำบัดรักษาที่เหมาะสม และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ครอบคลุมทุกมิติตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมชุมชนได้อย่างปกติสุขและเท่าเทียม

สภ.เมืองสุพรรณบุรี จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ จัด โครงการดังกล่าวขึ้น ในชื่อ “ชุมชนยั่งยืนเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์” โดยกำหนดให้พื้นที่ บ้านบึงหมู่ใหม่ ม.6 ต.บ้านโพธิ์ เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินการโครงการฯในพื้นที่เป้าหมายและขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ในห้วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 รวมระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่คณะทำงานโครงการฯ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้คืนให้ชุมชนรักษาสภาพให้ยั่งยืน ต่อไป

 ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก หลายๆ ภาคส่วน ร่วมกัน ในการดำเนินการ ซึ่งจะมีกระบวนการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่เน้นให้โอกาส เยียวยารักษา และคืนบุตรหลานที่มีความพร้อมกับคืนสู่สังคม โดยจะทำให้ผู้เสพ ผู้ติด เกิดความภาคภูมิใจและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ส่วนผู้ผลิต ผู้ค้า ก็จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมายต่อไป