กมธ.การอุดมศึกษาฯ จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาและสร้างบุคลากรต้นแบบ”

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ห้องประชุม 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา(ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภาจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาและสร้างบุคลากรต้นแบบโดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และพลเอก พหล สง่าเนตร ประธานคณะทำงานนวัตกรรมทางปัญญา สร้างสังคม รู้ รักสามัคคี มีสันติสุขยั่งยืน กล่าวรายงาน พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภาคณะกรรมาธิการฯ คณะทำงาน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายเยาวชน SEED Thailand เข้าร่วม

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา คือ การพยายามตอบโจทย์เป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนด้านความมั่นคง โดยชี้ประเด็นให้เห็นว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโดยอยากให้คนที่อยู่ในสังคมทุกรุ่นได้อยู่ร่วมกันในประเทศอย่างมีความสุข ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ได้เข้ามาเติมเต็มในการสร้างวิทยากร บุคลากรต้นแบบ นำไปถ่ายทอด ส่งต่อเพื่อให้เกิดการกระจาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับการสัมมนาในวันนี้ มีการบรรยายเรื่องการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาและสร้างบุคลากรต้นแบบโดย พลเอก พหล สง่าเนตร ประธานคณะทำงานภายใต้กรอบแนวคิด“STAR STEMS” ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาด้วยสถานการณ์จริง (Situation-Based Learning : SBL) โดยมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ (STAR) และบูรณาการกับหลักคิด 5 ประการ (STEMS) ประกอบด้วย 1.หลักเหตุและผล (S – Scientific Thinking) 2.หลักภูมิปัญญาไทย ศาสตร์พระราชา (T – Thai Technology) 3.หลักประสิทธิภาพ ระบบงาน และการสื่อสารสากล (E – English Engineering) 4.หลักตรรกะและคุณธรรม (M – Moral Mathematics) และ 5.หลักความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับภูมิสังคม (S – Socio Geology) ซึ่งจะส่งผลให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเป็นพลเมืองดี วินัยเด่น มีความรัก ภูมิใจในชาติ สามารถและเชี่ยวชาญตามความถนัด มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ทั้งยังช่วยพัฒนากระบวนการ รู้ คิด ทำ ของคนในสังคมให้ถูกต้องสมบูรณ์ ครบถ้วนทุกด้าน ทุกมิติ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

.

จากนั้นผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกปลุกพลังคิด “STAR STEMS” สู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อใช้สำหรับประกอบการพิจารณาเรื่องการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาและสร้างบุคลากรต้นแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป