เกษตรสุพรรณบุรี ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรัง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

นายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรัง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กำลังปานกลาง ส่งผลให้ในปี พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศน้อยลงกว่าปี 2565 จำนวน 3,999 ล้านลูกบาศก์เมตร (1 พฤศจิกายน 2566)

 

ซึ่งส่งผลต่อน้ำต้นทุนในปี 2567 โดยในปัจจุบันอยู่ในช่วงการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งตามแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2566 / 2567 พบว่ามีบางพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่าแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเสียหายหากปริมาณน้ำที่จัดสรรไม่เพียงพอ ประกอบกับการคาดการณ์ของหน่วยงานพยากรณ์ที่ระบุว่าช่วงต้นปีถึงกลางปีนั้น จะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในปีการผลิต 2566/67 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสียหายจากสภาพอากาศหน้าแล้ง ลดการใช้น้ำทำการเกษตร และสร้างรายได้แก่เกษตรกร

 นายสุเมศ ฉิมเพ็ชร์ เจ้าของแปลง กล่าวว่า ตนปลูกแตงโมทดแทนนาปรัง ในพื้นที่ 13 ไร่  แบ่งพื้นที่เป็น 2 แปลง ปลูกต่างกัน 15 วัน เพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตล้นตลาดในช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งแตงโมเป็นพืชใช้น้ำน้อย ปริมาณการใช้น้ำ 642 – 655 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ /ฤดูกาลผลิต ในขณะที่การทำนาปรังจะใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวประมาณ 1,200 – 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดูกาลผลิต :ซึ่งในพื้นที่แปลงของตน หมู่ 3 ตำบลสนามคลี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน แต่ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอในการทำการเกษตร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จึงส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทนแล้ง รวมถึงอายุสั้น โดยเกษตรกรเริ่มปลูกฤดูกาลแรกในปี 2556 เริ่มทดลองปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลายชนิด อาทิเช่น แตงโม ข้าวโพด ฟัก/แฟง ซึ่งในพื้นที่ของตนเหมาะสมกับการปลูกแตงโมมากที่สุด ได้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่ เป็นที่น่าพึงพอใจ กำไรเฉลี่ย 5,000 บาท/ไร่ ใช้ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเพียง 60 วันหลังจากปลูกลงดินเท่านั้น ซึ่งปี 2567 นี้ เกษตรกรเลือกปลูกแตงโมสายพันธุ์กินรี ลักษณะเด่น ผลทรงกลมรี ผิวเขียวเข้ม ลายดำชัดเจน เนื้อแดงเข้ม แน่นกรอบ ไส้ไม่ล้มง่าย เปลือกบางแต่แข็ง น้ำหนักผล 6 – 8 กก. ทนต่อการขนส่ง ซึ่งแตงโมพันธุ์กินรีเป็นพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดรวมถึงมีความเหมาะสมกับพื้นที่ เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงสุด 12 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้มีรายได้กว่า 300,000 บาท/ฤดูกาล

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี