เกษตรสุพรรณบุรี ร่วมแก้ปัญหา PM 2.5 เติมองค์ความรู้ ปรับทัศนคติ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร

สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ประจำปี 2563 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรให้แก่เกษตรกร ในพื้นที่ที่มีพื้นที่การเผาสูง จำนวน 160 ราย ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิม มุ่งสู่การทำการเกษตรแบบปลอดการเผา




นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า การเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นสาเหตุที่สำคัญของปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไป ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่มีการเผาสูง คือ นาข้าว ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้ดำเนินโครงการการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ตั้งเป้าลดพื้นที่ไร่อ้อยและนาข้าว ที่มีการเผาไหม้ และจุดความร้อน (hotspot) สูง ไม่น้อยกว่า 2,000 ไร่ และเกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา

โดยดำเนินการในพื้นที่อำเภอด่านช้าง และอำเภอศรีประจันต์ จำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 160 ราย เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเผาพื้นที่การเกษตร ปรับเปลี่ยนทัศนคติและจิตสำนึกของเกษตรกรให้ยอมรับการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา อาทิเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาในที่โล่ง แนวทางการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวโดยไม่เผาฟาง เป็นต้น

เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภออื่นๆ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในเวทีถ่ายทอดความรู้ต่างๆ และติดตาม ให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา เพื่อสนับสนุนการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างใกล้ชิด

************************************************