ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โดยกรมวิชาการเกษตร เตรียมจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) ขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายอรรถสิทธิ์   บุญธรรม  นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า

 

การเผาใบและเศษซากอ่อยยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทย ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการเกิดสภาวะมลพิษทางอากาศและโลกร้อน รวมถึงการเสื่อมคุณภาพของดิน  การพัฒนาเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและเครื่องมือเตรียมดินเพื่อลดการเผาใบ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาการเผาอ้อยจากสาเหตุต่างๆ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตอ้อย




 

 

 ดังนั้น ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โดยกรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท จึงได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาต้นแบบการเก็บเกี่ยวอ้อยสดเข้าโรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และจัดให้มีงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) เรื่องการจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด

ในวันที่18 กุมภาพันธ์ 2563  ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสดและก่อนเตรียมดินปลูกอ้อย 

       

 ทั้งนี้ จะมีการจัดนิทรรศการ บรรยายให้ความรู้ และสาธิตการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและเครื่องมือเตรียมดินโดยไม่เผาใบ เพื่อลดปัญหาการเผาอ้อยในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยให้ได้ผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต โดยนางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน จึงขอเชิญเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมงานได้ ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว