เรือนจำจังหวัดตรัง จัดพิธีปิดการอบรมหลักสูตรการอบรมผู้ต้องขังตามโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์” สร้างอาชีพสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ ไม่หันกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งผ็ต้องขังต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการ“โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์” ณ เรือนจำจังหวัดตรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้ว ให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ซึ่งประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ป้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่องทุกเงื่อนไขของพื้นที่ และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก ในการนี้มีผู้เข้ารับการอบรมในส่วนของเรือนจำจังหวัดตรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร แก่ผู้ผ่านการอบรมในรุ่นที่ 2/3 ของเรือนจำจังหวัดตรัง จำนวน 149 ราย
ทั้งนี้ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า การอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อสนองพระราชปณิธาน และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทาน โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เพื่อเปิดโอกาสให้นักโทษเด็ดขาด ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ มีความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมทักษะ ทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแนวทางให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองได้ มองเห็นโอกาสในการประกอบสัมมาชีพภายหลังหลังพ้นโทษ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือทำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่น ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก สมดังพระราชปณิธานคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม