ม.สวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี โชว์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นแห้วสุพรรณ สนองพระราชดำริ

 

ม.สวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี  โชว์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นแห้วสุพรรณ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ดร.วรานี เวสสุนทรเทพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า  สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม อพ.สธ.-มสด. อีกทั้งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี ในการทำงานของคณาจารย์และบุคลากรที่ให้พัฒนาชุมชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และยกระดับรายได้ให้ชุมชน คณาจารย์จึงลงพื้นที่โดยได้นำปัญหาที่มีในชุมชนในการนำต้นแห้วที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว นำมาเพิ่มความเหนียวให้กับต้นแห้วแล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน และดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนเชิงเกษตรสร้างสรรค์สมหวังที่ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ด้าน อาจารย์อัครพล ไวเชียงค้า ประธานสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการและปัญหาในชุมชนพบว่า ชาวบ้านที่ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านในชุมชนมีการปลูกแห้ว จำหน่ายแห้วเป็นอาชีพ และมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์สมหวังที่วังยาง โดยการนำของนายสงบ ลาภปัญญา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังยาง โดยให้นักท่องเที่ยวมาลงพื้นที่เรียนรู้การปลูกแห้ว การเก็บแห้ว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแห้ว ซึ่งทางกลุ่มมีความสนใจอยากให้ทีมงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นแห้ว เพื่อนำไปส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้มีความน่าสนใจและสามารถร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชุมชนของการทำแห้วได้อย่างครบวงจร ซึ่งต้นแห้วในปัจจุบันด้วยคุณสมบัติที่มีความเปราะ แตกหักง่าย ไม่มีความเหนียว เกษตรกรเก็บเกี่ยวหัวแห้วก็จะฟันต้นแห้วทิ้งลงในนาแห้ว แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษของต้นแห้วที่มีความตรงและยาว ถ้าสามารถทำให้มีความเหนียวและแข็งแรงเพิ่มขึ้นได้ก็จะสามารถนำมาจักสาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจากนั้นทางสาขาวิชาจึงเริ่มจากการทดลองเพิ่มความเหนียวให้กับต้นแห้วในวิธีต่าง ๆ นั้น พบว่า วิธีการที่มีความเหมาะสมต่อการทำให้ต้นแห้วมีความเหนียวและเหมาะสมต่อการนำมาทำงานจักสานมีวิธีการ คือ

          1.ขั้นตอนการเตรียมต้นแห้ว เริ่มจากนำต้นแห้วที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวนำมาคัดเลือกขนาดความยาวให้มีขนาดที่เท่ากัน จากนั้นน้ำผ้าชุบน้ำมันพืชชโลมที่ต้นแห้วให้ทั่ว ทิ้งไว้ในร่มให้แห้ง และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกประมาณ 2 วัน จากนั้นชโลมด้วยน้ำมันพืชอีกครั้งหนึ่ง และผึ่งลมให้แห้งอีกประมาณ ๑ สัปดาห์ จากนั้นนำเก็บเพื่อเตรียมการจักสานต่อไป

2.ขั้นตอนการสาน เริ่มจากการก่อฐานด้านล่างด้วยเส้นแห้ว 2 ชนิด คือ เส้นยืน และเส้นนอน การสานขึ้นรูปทำเป็นรูปแบบชะลอม และ ภาชนะ ทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ ชะลอมจุก ชะลอมหูหิ้ว ชะลอมหูหิ้วทรงรี เข่งชะลอมกลม และดอกไม้ประดิษฐ์รูปแบบต่างๆ

จากนั้นได้จัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ และ สมาชิกกลุ่มจักสานในชุมชน จำนวน ๒๐ คน ร่วมกันแลกเปลี่ยนและเสนอแนวความคิดต่อการจักสานผลิตภัณฑ์จากต้นแห้ว