วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 12.05 น. นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จโดยเครื่องบินที่นั่งถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เฝ้ารับเสด็จ ในการนี้ทอดพระเนตรการแสดงมโนราห์ขององค์กรเครือข่ายศูนย์ฝึกมโนราห์ ส.จอมหรำพัฒนาศิลป์ จำนวน 30 คน เป็นการร่ายรำในท่าแม่บท 12 ท่า ซึ่งเป็นท่ารำพื้นฐานดั้งเดิมที่ผู้ร่ายรำทุกคนต้องฝึกหัดรำเพื่อคำรพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์
เวลา 12.41 น.เสด็จไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จำนวน 50 กลุ่ม ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจัดขึ้นตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่ง ตลอดจนยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย สร้างความเชื่อมโยงในจังหวัดภาคใต้ และประชาสัมพันธ์กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ภาคใต้
โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผศ.ดร.นิวัฒน์ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลตรี ประเสริฐ กิตติรัต ผู้บัญชาการมลฑลทหารบกที่ 42 ข้าราชการและประชาชน เฝ้ารับเสด็จ
ภายในงานได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องจักสาน 14 จังหวัดภาคใต้ อาทิ บาติกยางกล้วย ของกลุ่มกะลามะพร้าวบ้านหน้าถ้ำ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นำยางกล้วยมาพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของผ้ายางกล้วยโทนสีน้ำตาล กระเป๋าเตยปาหนัน ของกลุ่มหัตถกรรมเตยปาหนันบ้านวังหิน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พร้อมกันนี้พระราชทานลานผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี รวมทั้งกลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP
ในส่วนของจังหวัดสงขลาจัดแสดงผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้แก่ ผ้าทอ ผ้ามัดย้อม ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าบาติก และกระเป๋าจักสาน ประกอบด้วย อัสลาม โบทานิค(Aslam Botanic) อำเภอสะบ้าย้อย ผลิตภัณฑ์ดาหลา กลุ่มกะลามะพร้าวบ้านหน้าถ้ำอำเภอสะเดา ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกยางกล้วย สงขลาบาติก อำเภอเมืองสงขลา ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกลายขอฯเอกลักษณ์สงขลา มีดีนาทับ อำเภอจะนะ ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมบาติกเพนท์ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านสะพานพลา อำเภอนาทวี ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ วิสาหกิจกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านล่องมุด อำเภอเทพา ผลิตภัณฑ์ผ้าทอลายขอผ้าทอยกดอกลาย 51 และกลุ่มหัตถกรรมใยตาลสทิงพระ(กลุ่มโหนดทิ้ง) ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจักสานจากเส้นใยตาล และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยภาคใต้
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการสีธรรมชาติผ้าย้อมครามน้ำทะเล จากออกแบบโดยอาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ออกแบบลวดลายผ้าทอสงขลากับผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี พระราชทานตามแนวทาง Thai Textile Trend Book ทั้งยังได้พัฒนาผ้าทอสงขลาร่วมกับสามเณรวัดโคกเปี้ยว ต.เกาะยอ ด้วยการนำพืชธรรมชาติมาย้อมผ้า ผ้าทอยกดอกของกลุ่มผ้าทอวัดโคกเปี้ยว ซึ่งเริ่มจากที่สามเณร ชื่อปัณณธร สวัสดี เห็นชาวบ้านกลุ่มราชวัตรทอผ้า จึงเกิดความสนใจและศึกษาการทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน ตอนแรกที่ทอสำเร็จคือลายดอกพะยอม 4 ตะก้อ 4 เท้าเหยียบ ทอด้วยวิธีโบราณเรียกว่าทอขัดเส้น ผ้าโบราณภาคใต้ ของนายปัญญา พูลศิลป์นักสะลมผ้าโบราณ กว่า 1,000 ผืน ผืนที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า 140 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยังมีผ้าปักรานิง ผ้าจากประเทศอินเดีย นำมาปรับใช้เทคนิคเกิดเป็นลวดลายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โอกาสนี้ ทรงติดตามความคืบหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามพระวินิจฉัยเมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรการจัดแสดงผ้าและการสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่น ลวดลายต่างๆ และหัตถกรรมท้องถิ่นชุมชนภาคใต้ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 และมีพระวินิจฉัยพัฒนายกระดับผ้าไทยแก่กลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติกให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์ของภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ พร้อมพระราชทานคำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้า รวม 34 กลุ่ม และมีกลุ่มกราบทูลรายงานการบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 16 กลุ่ม ทรงชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดของงานแต่ละชิ้นพร้อมมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำทุกชิ้นงาน พร้อมกับโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและการออกแบบแฟชั่นมาให้คำแนะนำแก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าจังหวัดต่างๆ เพื่อยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ในคราวเสด็จกลุ่มทอผ้ากลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย
ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานคำแนะนำในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักสู่สากล ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีให้แก่กลุ่มทอผ้าและพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จเพื่อจะได้นำคำแนะนำที่พระราชทานในวันนี้ ไปต่อยอด สร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ สร้างชีวิตให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน