จังหวัดสุพรรณบุรี ขับเคลื่อนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แบบบูรณาการให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์

วันนี้(14 ธ.ค.66) เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมการบูร 1 ชั้น 2  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี  นายธีรยุทธ์  จันทร์ดิษฐวงษ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสุพรรณบุรี

 

พร้อมขอให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669  ส่งเสริมและสนับสนุน ปรับปรุง แก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้ง อปท.และมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ ต้องมีแผนในการเพิ่มทีมให้มากขึ้นเพื่อสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้เร็วที่สุด     ที่สำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน /อาสาสมัคร ต้องมีความรู้ความเข้าใจการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และหัวใจสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้กับชาวบ้าน ประชาชน หรือผู้ที่พบเห็นผู้ป่วย  โดยต้องมีการสื่อสารแบบเคาะประตูบ้าน เข้าถึงชุมชน โรงเรียน และวัด เป็นต้น

ด้านนายแพทย์รัฐพล  เวทสรณสุทธี   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี  กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสุพรรณบุรี มีการดำเนินงานภายใต้การบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่าย ตลอดจนมูลนิธิต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑  ซึ่งมีเจตนารมณ์ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงเท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น ลดและป้องกันความสูญเสียจากการที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ หรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญ รวมทั้งลดการบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นโดยไม่สมควร การบริการการแพทย์ฉุกเฉินมีความสำคัญต่อการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล เป็นปฏิบัติการที่ช่วยให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องตันที่จำเป็นที่ถูกต้อง ตอบสนองได้รวดเร็ว ทันการณ์ และต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ผู้ปฏิบัติการของหน่วยบริการสามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุได้ทันต่อเหตุการณ์ มากขึ้นสอดรับแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 พ.ศ.2566 -2570

ทั้งนี้ ปัจจุบันสุพรรณบุรีมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาล จำนวน 11 ทีม อบต./เทศบาล จำนวน 10 ทีม และ มูลนิธิ จำนวน 31 ทีม