วัดหนองกระทุ่ม (หนองถ่ม) ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี จัดสืบสานประเพณีสงกรานต์ ตามโบราณประเพณีชาวลาวครั่งที่มีมาอย่างยาวนาน
พระครูใบฎีกาอาทิตย์ อินฺทมุนี เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม ประธานหน่วยอบรมประจำตำบลหนองกระทุ่ม กล่าวว่า วัดหนองกระทุ่มได้จัดสืบสานประเพณีสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ ทุกเช้าทางวัดจัดให้มีการทำบุญ ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ เริ่มประเพณีสงกรานต์เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน พิธีอัญเชิญพระเจ้าลง (พระเจ้า คือ คำเรียงของชาวลาวสั้นๆ จริงๆ คือ พระพุทธรูปองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง)
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดทั้ง ๗ วัน เวลาเย็นของวันที่ ๑๔-๑๖ เมษายน ร่วมบุญประเพณีแห่ดอกไม้ การละเล่นผีนางด้ง วันที่ ๑๗ เมษายน ช่วงเย็นพุทธศาสนิกชนร่วมบุญประเพณีล้างกระดูก (สวดอัฐิรวมญาติ) พร้อมร่วมทอดผ้าป่าครอบครัว และวันสำคัญ คือ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ ประเพณียกธงสงกรานต์ของชาวหนองกระทุ่ม ทั้ง ๙ หมู่บ้าน จัดขบวนแห่ธงที่ประดับด้วยความสวยงาม การฟ้อนรำกลุ่มแม่บ้านหลายๆ หมู่บ้านมารวมเป็นหนึ่งคือ “หนองกระทุ่ม” แต่งกายด้วยชุดผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม และวันสุดท้ายของงานวันที่ ๑๙ เมษายน เวลาเช้าร่วมทำบุญฉลองธง พร้อมอัญเชิญพระเจ้าขึ้น ถือเป็นการเสร็จสิ้นงานประเพณีสงกรานต์ของบ้านหนองกระทุ่ม
นายวิฑูรย์ ทวีสุข ครูโรงเรียนอนุบาลยอดไม้งาม ฐานะครู ก เล่าถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวครั่งตลอดทั้ง ๗ วัน ว่า พื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม เกิดมาเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีของกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีพื้นที่รวมอยู่ในตำบลบ่อกรุ บรรพบุรุษเป็นประชากรชาวลาวได้อพยพมาจากเวียงจันทร์มาพึ่งบุญโพธิสมภาร ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๓ จนตั้งหลักปักฐานอยู่อาศัยมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งประชากรในพื้นที่ร้อยละ 90 มีนามสกุล “กาฬภักดี” (กาฬ มาจากชื่อ หลวงปู่ดำ, ภักดี คือ ความศรัทธาในหลวงปู่ดำ) ทางวัดหนองกระทุ่ม ได้กำหนดการจัดงานประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวครั่งตามวันดังกล่าวทุกปี โดยการร่วมมือของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ คณะกรรมการวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครับ และเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณการจัดงานในครั้งนี้