ตรัง โครงการโคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง

เรือนจำตรังปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง รุ่นที่ 2  เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง  นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษนั้นมีเจ้าของสถานประกอบการได้รับเข้าทำงานงานแล้วหากพ้นโทษ

ที่เรือนจำจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง รุ่นที่ 2   ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้มีการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง  เรือนจำจังหวัดตรัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอกนั้น ปัจจุบันการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังเรือนจำจังหวัดตรัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 2 นี้ มีผู้เข้ารับการฝึกเป็นผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย 71 คน และชาวต่างชาติ 1 คน รวมทั้งสิ้น 72 คน โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 18 ก.ย.-1 ต.ค.2563 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และการวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริง มีขนาด 100 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และการสรุปประเมินผล

ทั้งนี้ นายภักดี แก้วเนียม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดตรัง กรมราชทัณฑ์ สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากนี้แล้วผู้ต้องขังที่จะรับการพ้นโทษในโอกาสต่อไป จะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานรักษาต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป