ศาลจังหวัดประจวบฯจัดงานวันรพี ประจำปี 2566 น้อมรำลึกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

เมื่อเวลา 08.30 . วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่บริเวณศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบุญรัตน์ จูอี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลและวางพวงมาลา ถวายสักการะหน้าพระรูป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์พระบิดาแห่งกฎหมายไทยเนื่องในวันรพี ประจำปี 2566 โดยมี พระธรรมวชิรสิทธาจารย์ เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีบำเพ็ญกุศล และมี ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดฯ  นายประยุทธ แก้วภักดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดฯ นายปฏิวัติ ธนากรรัฐ อัยการจังหวัดประจวบฯ นายธรรมรัตน์ ลิ่มกุลพงษ์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวฯ นายณัฐวิชช์ เลาหกุล อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดประจวบฯ คณะผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดฯ  คณะผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัว หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สภาทนายความจังหวัด คณะผู้ประนีประนอมศาลไกล่เกลี่ย ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน เข้าร่วม

จากนั้น ภายหลังพิธีบำเพ็ญกุศล ได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะหน้าพระรูป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ของแต่ละหน่วยงานตามลำดับ ต่อมา นายบุญรัตน์ จูอี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฯ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายพวงมาลัยพระกรหน้าพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และวางพวงมาลาของหน่วยงานศาลจังหวัดประจวบฯ ซึ่งเป็นลำดับสุดท้าย

โดย นายบุญรัตน์ จูอี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.ประจวบฯ ได้กล่าวคำสดุดีเทิดพระเกียรติ นื่องด้วยวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญคุณเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาตินานัปประการ พระเกียรติคุณและพระปรีชาญาณของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แพร่หลาย  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษจนรอบรู้แตกฉาน ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้น ทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาในกรุงลอนดอน แล้วทรงเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สำเร็จปริญญาตรี (เกียรตินิยม)

ขณะพระชนมายุเพียง 20 พรรษา พระองค์ทรงศึกษากฎหมายไทย โดยมีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็นพระอาจารย์ เคยทรงดำรงตำแหน่งสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ ทรงจัดตั้งศาลมณฑลและศาลหัวเมืองในท้องที่ต่างๆ ทรงตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง จัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมหัวเมืองทั้งปวง และสะสางคดีความทั่วราชอาณาจักร พระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทรงสอนกฎหมายด้วยพระองค์เอง ผู้เรียนสำเร็จได้รับเรียกเป็นเนติบัณฑิต ปฐมกำเนิดแห่งคำว่า “เนติบัณฑิตไทย” ในปัจจุบัน

ทรงแก้ไขระบบงานยุติธรรมให้เป็นแบบสากล ทรงพระนิพนธ์ตำรากฎหมายต่างๆ ไว้เป็นอันมาก อันเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ พระองค์ท่านทรงมุ่งพระทัยที่จะทำงานให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าที่จะสนพระทัยในเรื่องส่วนพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาแก่บุคคลทั่วไป ทรงยึดหลักความยุติธรรมและซื่อสัตย์ ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและต่อนักกฎหมายทั้งปวงเป็นอเนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันสุดจะพรรณนา ทำให้นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปยกย่องพระองค์ท่านว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”  ปี 2462 พระองค์ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ และเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่พระอาการไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม 2463 เสด็จสิ้นพระชนม์ นับพระชนมายุได้ 47 พรรษา

ในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่านในวันนี้ เมื่อนับถึงปัจจุบัน เป็นเวลาถึง 103 ปีแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่นักกฎหมายและบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจักได้ร่วมใจกันถวายสดุดีแสดงกตเวทิตา แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งวงการกฎหมายไทย บรรดาข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอพร้อมกันแสดงความจงรักภักดี น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ขอตั้งปณิธานร่วมกันว่า จักเทิดทูนและจรรโลงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน จะประกอบหน้าที่การงาน ในความรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักนิติธรรม เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความเป็นธรรมให้บังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนสืบไป  จากนั้น ผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมด ต่างยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เป็นอันเสร็จพิธี///////